10/25/2024

2024 US elections สรุป 5 ข้อควรรู้ เข้าสู่โค้งสุดท้ายการเลือกตั้ง​

ตอนที่ 6 : สรุป 5 ข้อควรรู้ เข้าสู่โค้งสุดท้าย

เราเดินทางมาถึงบทความเลือกตั้งสหรัฐฯ ตอนที่ 6 แล้ว ซึ่งเหลืออีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึงวันชี้ชะตา 5 พ.ย. นี้ และจากผลสำรวจล่าสุดของหลายๆ สำนักทั้ง The Wall Street Journal, Reuters และสำนักข่าว NBC ต่างบ่งชี้ว่าคะแนนนนิยมของแฮร์ริส กับทรัมป์นั้นสูสีกันมาก จึงยากที่จะฟันธงว่าใครจะเป็นผู้ชนะ แล้วสำหรับนักลงทุน เราจะเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร บทความนี้ได้สรุป 5 ข้อควรรู้ ที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถนำไปปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมได้


1.  การเลือกตั้งสหรัฐฯ ไม่ได้มีเพียงแค่การเลือกประธานาธิบดีเท่านั้น แต่องค์ประกอบของรัฐบาล ใครได้กุมเสียงสภาสูง และสภาล่างก็เป็นเรื่องที่สำคัญ

นักลงทุนมักจะให้ความสนใจแต่เพียงว่าใครจะเป็นผู้ชนะ และได้เป็นประธานาธิบดี แต่สิ่งสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายที่นอกเหนือจากการเลือกประธานาธิบดีแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีในส่วนของการเลือกผู้แทนราษฎร หรือสภาล่าง (House of Representatives) ทั้งหมด 435 ตำแหน่ง และวุฒิสภา หรือสภาสูง (Senate) อีก 34 ตำแหน่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่ผลการเลือกตั้งจะเป็นแบบ Divided Government หรือแปลว่าแต่ละพรรคได้กุมเสียงข้างมากไปคนละสภา ทำให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญจะถูกจำกัดมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายแบบ 360 องศาก็จะลดน้อยลง


2.  ปัจจัยแวดล้อมด้านเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อกลยุทธ์การลงทุน มากกว่านโยบายของแต่ละพรรค

เราสามารถสรุปนโยบายสำคัญระหว่างทั้งสองพรรค ได้ดังนี้

 

​​
​​​​ แนวนโยบายของ Harris​​​​​ แนวนโยบายของ Trump
ภาษีต่างๆ

ต่ออายุมาตรการลดภาษี TCJA ออกไปบางส่วน ขึ้นภาษีผู้มีรายได้สูง และนิติบุคคลขนาดใหญ่

ต่ออายุมาตรการลดภาษี TCJA ออกไปทั้งหมด
ภาษีนำเข้าคงท่าทีนโยบายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันปรับเพิ่มภาษีนำเข้าเป็นวงกว้างมากขึ้น
พลังงานสนับสนุนพลังงานสะอาดสนับสนุนพลังงานฟอสซิล
Healthcareการให้สวัสดิการด้านสาธาณสุขแก่ประชาชน และสานต่อระบบโอบามาแคร์ตามกฎหมาย Affordable Care Act (ACA) หนุนการปรับลดราคายาให้สมเหตุสมผล

ผลักดันระบบประกันสุขภาพภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่ชื่อว่า American Health Care Act (AHCA) ผลักดันให้ราคายามีความโปร่งใส

นโยบายการเงิน ให้อิสระแก่ธนาคารกลางสหรัฐฯในการดำเนินนโยบายมีแนวโน้มจะแทรกแซงการดำเนินนโยบายการเงินมากกว่า


อย่างไรก็ดี นักลงทุนไม่ควรมุ่งเน้นปรับพอร์ตตามการคาดการณ์ว่าใครจะได้มาเป็นประธานาธิบดี และมีแนวนโยบายอย่างไร เนื่องจากเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก โดยผลโพลที่มีการสำรวจก่อนการเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงคะแนนนิยมที่ผู้สมัครได้รับจากประชาชน หรือที่เรียกว่า Popular vote แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ตัวตัดสินว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีตามระบบการเลือกตั้งสหรัฐฯ แต่ผู้ตัดสินคือคณะผู้เลือกตั้งหรือ Electoral College ที่ได้มาจากการลงคะแนนเสียงของประชาชนในแต่ละมลรัฐ โดยผู้สมัครจะต้องได้คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างน้อย 270 คน ซึ่งจะลงคะแนนกันอย่างเป็นทางการวันที่ 17 ธ.ค. นี้ ถึงจะได้รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี (อ่านเพิ่มเติมได้ใน EP.1)

นอกจากนี้ จากสถิติในอดีต บางครั้งทิศทางของหุ้นที่เราคิดว่าจะเป็น กับความเป็นจริง กลับสวนทางกันได้ ที่เห็นได้ชัดคือ ในหุ้นกลุ่มพลังงาน ช่วงที่ทรัมป์ผู้ที่สนับสนุนพลังงานฟอสซิลเป็นประธานาธิบดี ในช่วงปี 2017-2020 หุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาดได้ปรับตัวขึ้นมาถึง +275% ในขณะที่หุ้นกลุ่มน้ำมันปรับลง -40% ส่วนช่วงที่ไบเดนเป็นประธานาธิบดี แม้ว่าจะมีนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาด แต่ผลตอบแทบตอบแทนของหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาดกลับปรับลดลง -50% ขณะที่หุ้นกลุ่มน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 200% ดังนั้น นักลงทุนจึงควรปรับกลยุทธ์การลงทุนตามปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่มีผลต่อผลตอบแทนอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า และเป็นสิ่งที่เราพอจะเห็นแนวโน้มได้


3.  สิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้คือ ดุลการคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มขาดดุลมากขึ้นไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีก็ตาม

ประเด็นแรกที่นักลงทุนพอจะเห็นแนวโน้มได้คือ ไม่ว่าใครจะขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดี การใช้จ่ายภาครัฐจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากการออกพันธบัตรในช่วงก่อนหน้านี้ที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ทำให้รัฐมีส่วนของภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และนโยบายของทั้งสองพรรคที่จะลดภาษี และเพิ่มรายจ่ายภาครัฐ อันจะนำไปสู่การขาดดุลทางการคลังที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งเวลาที่ตลาดกังวลเรื่องประเด็นหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ก็จะกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ไม่สามารถปรับตัวลดลงได้อย่างรวดเร็ว โดยสำนักงานงบประมาณแห่งชาติของรัฐสภาสหรัฐฯ หรือ Congressional Budget Office CBO ประมาณการว่าในกรณีฐาน ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 97.7% ในปี 2024 เป็น 122.4% ของ GDP และหากมีการต่ออายุนโยบายลดภาษี Tax Cut and Job Act (TCJA) ออกไป ก็มีโอกาสเพิ่มขึ้นมาแตะ 133.5% ของ GDP ส่งผลให้นักลงทุนจะเผชิญกับความผันผวนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในระยะข้างหน้าได้


4.  อีกสิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้ คือ ความขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะดำเนินต่อไป  

ประเด็นสงครามการค้าก็เป็นอีกเรื่องที่พอจะคาดการณ์ได้ว่าจะดำเนินต่อไป ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีก็ตามไม่เฉพาะแต่กรณีที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี แม้ในกรณีของทรัมป์อาจดูมีผลกระทบมากกว่าในแง่ของแนวนโยบายที่เคยประกาศว่าจะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 60% และเก็บภาษีนำเข้า 10% สำหรับสินค้าทั้งหมดจากทั่วโลก แต่โดยรวมแล้วสงครามการค้ามีแนวโน้มกลับมาสร้างความผันผวนให้แก่ตลาดได้


5.  อย่ารอหลังเลือกตั้งแล้วค่อยเข้าลงทุน ควรลงทุนต่อเนื่องโดยเน้นจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง และไม่ได้อยู่ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ตามการคาดเดาผลการเลือกตั้งของนักลงทุนในตลาด แต่หลังจากวันเลือกตั้ง ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะลดลง ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร และตลาดหุ้นมักจะกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ หลังนักลงทุนกลับมาให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานอีกครั้ง กระนั้น การจับจังหวะลงทุนด้วยการรอเข้าซื้อหลังเลือกตั้งผ่านพ้นไปแล้วจึงอาจเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้นักลงทุนอาจพลาดโอกาสรับผลตอบแทนเมื่อตลาดปรับตัวขึ้นทันทีอย่างรวดเร็วหลังการเลือกตั้ง หรือในบางปีตลาดมีการปรับตัวขึ้นตั้งแต่ก่อนรู้ผลการเลือกตั้ด้วยซ้ำ ดังนั้น เราจึงแนะนำให้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay invest) และเน้นจัดพอร์ตกระจายในหลากหลายสินทรัพย์ทั้งหุ้นในหลากหลายประเทศ ตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ทองคำ และ REIT เป็นต้น เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสรับผลตอบแทน และลดความเสี่ยงจากความผันผวนต่างๆ


บทความโดย

คุณวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA, Chief Investment Officer. บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2567

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ทรัมป์ vs แฮร์ริส นโยบาย Climate Change  >>Click

จากโจ ไบเดน …สู่ กมลา แฮร์ริส  >>Click

สงครามการค้า กลับมาร้อนระอุ อีกครั้ง?  >>Click

จับตานโยบายการคลังสหรัฐฯ >>Click

เส้นทางสู่การเป็น ปธน.สหรัฐฯ คนที่ 47 >>Click

จัดพอร์ต Core-Satellite ไม่ใช่เรื่องยาก >>Click


Yes
10/25/2024
none