3/10/2022

สถานการณ์ รัสเซีย-ยูเครน

แนะเกาะติดผลการเจรจาแบบวันต่อวัน!!


  • ​การเจรจาล่าสุดดูมีความคืบหน้าและทำให้ตลาดมีความหวังว่าสงครามใกล้จะยุติ
  • ​​หากเจรจาได้ หุ้นจะฟื้นตัว แต่หากยังยืดเยื้อ ความผันผวนจะมีสูงต่อไป

จากเหตุการณ์ที่ รัสเซีย เข้าโจมตี ยูเครน ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาพลังงานปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรัสเซีย เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิดนั่นเอง

นอกจากนี้ การที่นานาประเทศตอบโต้โดยการออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรง ส่งผลให้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังทรงตัวในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน จะนำไปสู่ต้นทุนผู้ผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวระดับสูงในปัจจุบันมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในระยะสั้น และยังไม่ปรับตัวลงในระยะต่อไป โดยในท้ายที่สุดก็จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก 

จากสถานการณ์ดังกล่าว ความไม่แน่นอนที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอลง นักลงทุนทั่วโลกจึงมีการลดความเสี่ยง จากการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเกือบทุกประเภท ราคาหุ้นในทุกกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหุ้นคุณค่า (Value) หรือหุ้นเติบโตสูง (Growth) ต่างปรับตัวลดลงประมาณ –8% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยมีเพียงสัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้นสูงสุดตั้งแต่ปี 2551 ขึ้นมาเหนือ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล คิดเป็นการปรับขึ้น 31% ในช่วง 1 เดือน และราคาทองคำพุ่งขึ้นในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ปรับขึ้นมาเหนือ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 9% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา


มุมมองการลงทุน

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ในปัจจุบัน ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ว่าจะจบในลักษณะใด ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังคงแกว่งตัวผันผวนสูง ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่

1.การเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน

ซึ่งหากมีพัฒนาการดีขึ้นและนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เช่น การเจรจาที่จะนำไปสู่การหยุดยิงและการถอนทหารออกจากยูเครน ก็จะทำให้ความไม่แน่นอนลดลง และตลาดหุ้นจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และกลับสู่การเคลื่อนไหวตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะเดียวกัน สินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นแรงจากเหตุการณ์นี้ เช่น น้ำมัน หรือทองคำ ก็จะเผชิญแรงขายทำกำไรได้เช่นกัน ในทางกลับกัน หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ คาดว่าตลาดหุ้นจะยังคงผันผวนต่อ เนื่องจากราคาต้นทุนพลังงานมีผลทางลบกับประมาณการเศรษฐกิจในระยะถัดไป

2.มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมและระยะเวลาของมาตรการ

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2565 สหรัฐฯประกาศคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงหากรัสเซียยกเลิกการส่งพลังงานให้แก่ยุโรป ก็จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนพลังงานในยุโรปอย่างรุนแรง และตลาดหุ้นจะปรับตัวลงได้อีก 


คำแนะนำการลงทุนโดยภาพรวม

นักลงทุนระยะสั้น : รอประเมินสถานการณ์ หรือพักเงินในกองทุนความเสี่ยงต่ำ เช่น K-SFPLUS, K-CBOND

นักลงทุนระยะกลางถึงยาว : ทยอยสะสมกองทุนหุ้นที่ตลาดปรับลงมามาก โดย KAsset ยังคงมุมมองบวกต่อตลาดหุ้นเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ไทย เวียดนาม เนื่องจากผลกระทบต่อการเติบโตจากสถานการณ์ดังกล่าวน้อยกว่ายุโรป หรือสหรัฐฯ

 

คำแนะนำ สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก “ทองคำ"

ในระยะสั้น : คาดว่าราคาทองคำจะซื้อขายอยู่ในกรอบระหว่าง 1,950 – 2,100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากความกังวลต่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงมีทีท่ายืดเยื้อและมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะจบในลักษณะใด อย่างไรก็ดี หากเริ่มเห็นสัญญาณในด้านบวกที่ชัดเจนตามที่ได้กล่าวด้านบน ก็อาจทำให้เกิดแรงเทขายทำกำไรที่รวดเร็วได้เช่นกัน นอกจากนี้

ในระยะกลาง : นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่มีความตึงตัวมากขึ้น และนำไปสู่ดอกเบี้ยขาขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ

คำแนะนำการลงทุน : ถือเป็นสินทรัพย์กระจายความเสี่ยง 5 - 10% ของพอร์ต

ข้อควรระวัง : ไม่แนะนำให้ถือเป็นสัดส่วนหลัก หรือเก็งกำไรระยะสั้น​

คำแนะนำ สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก “น้ำมัน"

ในระยะสั้น : ราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับสูงในกรอบ  100-140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล การคว่ำบาตรจากสหรัฐฯสนับสนุนเชิงจิตวิทยาให้ราคาน้ำมันดิบทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่การที่สหรัฐฯไม่ใช่ผู้นำเข้าหลัก (สหรัฐฯนำเข้าจากรัสเซียประมาณ 8% ของการนำเข้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันโดยรวม) ขณะที่ยุโรปและจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าหลักจากรัสเซียยังไม่มีทีท่าการคว่ำบาตรการนำเข้า ประกอบกับหากเริ่มเห็นสัญญาณในเชิงบวกด้านการเจรจาสันติภาพตามที่ได้กล่าวด้านบน ก็อาจทำให้เกิดแรงเทขายทำกำไรที่รวดเร็วได้เช่นกัน นอกจากนี้

ในระยะกลาง : การเจรจาระหว่างสหรัฐฯและอิหร่านจะนำไปสู่การเพิ่มอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่าน และจะทำให้ตลาดกลับภาพจากภาวะอุปทานไม่เพียงพอ เป็นอุปทานส่วนเกินประมาณ 5 แสน - 1 ล้าน บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะกดดันราคา และในที่สุดอุปสงค์และอุปทานจะปรับเข้าสู่จุดสมดุลได้ในระยะกลาง

คำแนะนำการลงทุน : ทยอยขายออกเพื่อทำกำไร

ข้อควรระวัง​ : ไม่แนะนำให้ถือเป็นสัดส่วนหลัก หรือเก็งกำไรระยะสั้น

 


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 2565

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

จับตาสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน >> คลิกอ่าน 

Fed เร่งขึ้นขึ้นดอกเบี้ย เร็ว-แรง >> คลิกอ่าน 

แนวโน้มธีมการลงทุนปี 2022 >> คลิกอ่าน



Yes
3/10/2022