3/31/2022

ลงทุนให้รอดอย่างไร? เมื่อโลกเผชิญทั้ง วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน, จีน และอัตราเงินเฟ้อ !!

​​​​​​​​​เมื่อโลกต้องเผชิญทั้ง วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ตลาดหุ้นจีนผันผวน น้ำมันแพง และอัตราเงินเฟ้อ แล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอะไรอีกบ้าง? ....วันนี้ KAsset มีคำตอบ 

  • สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ยากจะคาดเดาว่าจะจบลงเมื่อใด
  • ความชัดเจนของ FED ที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในปีนี้ คาดว่าจะสร้างผลกระทบทางลบต่อตลาดที่จำกัด
  • ความเสี่ยงหลักยังคงเป็นเรื่องราคาพลังงานที่ทำให้เงินเฟ้อลากยาว และอาจทำให้ FED ดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์
  • การลงทุนในประเทศจีนและเอเชีย ยังน่าสนใจ โดยเฉพาะประเทศจีนและญี่ปุ่น
  • สำหรับนักลงทุนในระยะยาว การปรับฐานของหุ้นเป็นจังหวะให้เข้าทยอยสะสมได้

 

ผลกระทบของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ต่อตลาดการลงทุนทั่วโลก 

การบุกโจมตียูเครนโดยรัสเซีย คือจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์นี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้าง การที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียโดยการตัดออกจาก

​ระบบ SWIFT ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศต้องเผชิญกับความล่าช้า ยิ่งไปกว่านั้น การคว่ำบาตรทางพลังงาน ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกปรับตัวขึ้นอย่างมาก เป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกซึ่งรวมถึงไทยด้วย


​​
 
​​​​
​​

5เทคนิคลงทุนสู้วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน

1. กระจายความเสี่ยงการลงทุนให้เหมาะสม ทั้งในแง่ของตัวหุ้น ตราสารหนี้ กลุ่มหุ้น และภูมิภาคการลงทุน ไม่ควรลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากจนเกินไป

2. ผลตอบแทนของหุ้นในภูมิภาคต่างๆ จะฟื้นตัวเมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลาย ทั้งนี้ ในระยะสั้น ตลาดหุ้นยังมีความผันผวน แต่ในระยะยาว ตลาดหุ้นมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นไปได้อีก เพราะมีพื้นฐานที่ดี หุ้นเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น และนี่คือจังหวะดีในการทยอยสะสมหุ้น

3. KAsset มองว่า หุ้นกลุ่ม Quality Growth หรือหุ้นบริษัทที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง มีโอกาสเติบโตที่โดดเด่นในระยะยาว และมีผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้น Value โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะตัวที่ไม่มีในหุ้น Value เช่น การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของภาครัฐ และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ

4. ภูมิภาคที่น่าสนใจลงทุน ได้แก่

  • ตลาดหุ้นจีน บริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีการปรับตัวดี จะเติบโตได้ในอนาคต ขณะที่แผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการจัดระเบียบของรัฐบาลจีนจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะยาว
  • ตลาดหุ้นญี่ปุ่น มีคาดการณ์กำไรปรับขึ้น ขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าช่วยสนับสนุนตลาดหุ้น และมูลค่าหุ้นน่าสนใจ อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นก็มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่พอสมควร ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นด้วย
  • ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นตลาดใหญ่ ดังนั้นจึงแนะนำให้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ด้วย

5. หากไม่มั่นใจกับภาวะตลาดที่ยังผันผวนและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแนะนำให้ทยอยสะสมกองทุน SSF/RMF เพราะตอนนี้ตลาดหุ้นยังไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก จึงเหมาะกับผู้ที่มีแผนซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว ซึ่งดีกว่าการซื้อช่วงปลายปีที่อาจต้องซื้อของแพงขึ้นหากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนคลี่คลาย

 

ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน จะทำกระทบต่อเงินเฟ้อ หรือไม่?

ปัญหาเงินเฟ้อมีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว ก่อนหน้าที่จะมีเรื่องวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดปัญหาการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม 

การขาดแคลนชิ้นส่วนโดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการขนส่งสินค้าทางเรือมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวขึ้น ขณะที่ความต้องการสินค้าโดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นตาม ทั้งนี้ ก่อนหน้าการเกิดปัญหา รัสเซีย-ยูเครน นักวิเคราะห์มองว่าเงินเฟ้อในสหรัฐฯและยุโรปจะค่อยๆปรับตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการตอบโต้รัสเซียของสหรัฐฯและยุโรป ทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปตลอดปีนี้ ก่อนจะค่อยๆเห็นการปรับตัวลงเมื่อราคาพลังงานโลกเริ่มขยับลดลง

 

​FED เริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย กดดันตลาดหุ้นหรือไม่ ? 

FED ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกนับแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 โดยขึ้นดอกเบี้ย 0.25% รวมถึงจะเริ่มทยอยดึงสภาพคล่องออกจากระบบการเงิน (Quantitative Tightening : QT) เพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและลดสภาพคล่องในระบบ จะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น และกระทบต่อการประเมินมูลค่าหุ้น 

อย่างไรก็ตาม FED มีสื่อสารเรื่องดังกล่าวมานานและชัดเจนพอสมควร นอกจากนั้น FED ได้สื่อสารออกมาว่ามีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในรอบถัดไป เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็ไม่ได้ทำให้นักลงทุนกังวลแต่อย่างใด สะท้อนว่าตลาดได้ซึมซับปัจจัยเรื่องดอกเบี้ยและการทำ QT ไปมากแล้ว ผลกระทบต่อตลาดการเงินน่าจะมีจำกัด 

ตัวเลขคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยล่าสุดผ่านตลาด Futures สะท้อนว่าตลาดมอง FED จะขึ้นได้เบี้ยได้อีก 8-9 ครั้งจากระดับปัจจุบัน แต่ต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกควบคู่กันด้วยโดยเฉพาะราคาพลังงานที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงได้

 

ภาพรวมและสถานการณ์การลงทุน ในประเทศจีนและเอเชีย 

จีนล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ 9 วัน เพื่อตรวจโควิดครั้งใหญ่

  • จีนประกาศการล็อกดาวน์เมืองเซี่ยงไฮ้ ตามนโยบาย Dynamic Zero Covid อาจมีผลกระทบต่อ Sentiment แค่ในระยะสั้น
  • เป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้นจีน สำหรับนักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจีนน้อย หรือยังไม่มี

อัพเดตสถานการณ์ เพิ่มเติม >>Click

 

ตลาดหุ้นจีนโดยเฉพาะกลุ่มเทคฯ ปรับตัวลงแรง ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

  • หุ้นเทคฯจีน 5 ตัวที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ADR) เข้าข่ายถูกเพิกถอนจากกระดาน หากไม่ทำตามข้อกำหนด HFCAA
  • รัฐบาลจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเสินเจิ้น เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้ตลาดกังวลว่าจะกระทบภาวะติดขัดด้านการขนส่งและการผลิตอุตสาหกรรมเทคฯ

อัพเดตสถานการณ์ เพิ่มเติม >>Click 


ตลาดหุ้นเอเชีย มีโอกาสเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลออก จำนวนมากหรือไม่? 

หาก FED ขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาด หรือสงครามยืดเยื้อ จะยังมีความเสี่ยงที่เงินทุนจะไหลออกเพิ่มเติมจากทางฝั่งเอเชียได้อีก แต่จะกระทบประเทศที่ขาดดุลการค้าเยอะๆมากกว่า เช่น อินเดีย 

จีนเป็นประเทศที่มีปัจจัยเฉพาะตัวจึงไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในทางกลับกัน มีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นหากไม่มีประเด็นเซอร์ไพรส์เรื่องกฏระเบียบเพิ่มเติม ตลาดหุ้นจีนถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ 

ญี่ปุ่นมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน หลังการบริโภคในประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อย่างมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นเช่นเดียวกัน

 

การลงทุนในประเทศจีนและเอเชีย ยังน่าสนใจหรือไม่? 

KAsset ยังคงมีมุมมองบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจีน ในระยะสั้นอาจจะยังมีความผันผวน และความเชื่อมั่นนักลงทุนอาจจะยังไม่กลับมาดีขึ้นมากนัก แต่นักลงทุนเริ่มซึมซับข่าวร้ายต่างๆ และเริ่มเห็นความชัดเจนของมาตรการ รวมถึงความสามารถของบริษัทในการปรับตัวตามกฎระเบียบใหม่ เชื่อว่าบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดีมีภูมิต้านทาน มีการปรับตัวจะเติบโตได้ในอนาคต โดยการระบาดของโควิดในหลายประเทศใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนก่อนจะดีขึ้น แต่สำหรับประเทศจีนที่มีมาตรการเข้มงวดมากกว่า อาจจะดีขึ้นได้เร็วกว่า 

นอกจากนี้ KAsset ยังคงมีมุมมองบวกกับตลาดหุ้นญี่ปุ่น จากคาดการณ์กำไรยังคงปรับขึ้น ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงมีส่วนช่วยสนับสนุนตลาดหุ้น และยังมีมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจ 

 

การปรับนโยบายทางการเงินในยุโรป เป็นอย่างไร?

ธนาคารกลางอังกฤษมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 0.75% เนื่องจากคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออังกฤษจะแตะระดับ 8% ในไตรมาส 2 รวมถึงยอมรับว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานจะชะลอตัวลงในอนาคต 

ECB เริ่มมีการพูดถึงเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน แต่ปัจจุบันธนาคารกลางยุโรปยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินอยู่ ทำให้ ECB อยู่คนละ Cycle กับ FED ดังนั้น ECB จะต้องเริ่มจากการทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน ก่อนที่จะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกอาจเป็นช่วงต้นปีหน้า

 

คำแนะนำการลงทุน

ควรเน้นกระจายการลงทุนให้เหมาะสม ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งมากจนเกินไป จากข้อมูลในอดีตหลังจากเหตุการณ์ความขัดแย้งกันทางภูมิรัฐศาสตร์ เราพบว่าตลาดหุ้นจะสามารถเติบโตได้เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้ การกระจายการลงทุนขึ้นอยู่กับเป้าหมายและระยะเวลาของการลงทุน รวมถึงความสามารถในการรับความผันผวน และความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้ 

การลงทุนในระยะสั้น : KAsset มองว่ายังมีความไม่แน่นอนและมีความผันผวนสูง

การลงทุนในระยะยาว : ภายใต้สมมติฐานว่าเหตุการณ์ไม่บานปลายรุนแรง นักลงทุนสามารถทยอยสะสมหุ้นได้ เพราะหุ้นจะยังเป็นสินทรัพย์ที่สร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงขาขึ้นดอกเบี้ย โดยหุ้นที่นำตลาดมักเป็นหุ้นเทคโนโลยี หุ้นนวัตกรรม ซึ่งจัดเป็นหุ้น Growth นั่นเอง 

ขณะที่หุ้น Value ก็มีความน่าสนใจแต่เฉพาะบางกลุ่ม และมีโอกาสการเติบโตจำกัดกว่า เช่น หุ้นการเงินสามารถปรับตัวขึ้นได้ตามอัตราดอกเบี้ย แต่เมื่อดอกเบี้ยขยับขึ้นแล้ว ปัจจัยหนุนการเติบโตก็จะหมดไปและกำไรไม่สามารถเติบโตได้อีก ขณะที่หุ้นกลุ่ม Quality Growth ก็มีโอกาสเติบโตในระยะยาวที่โดดเด่น และมีปัจจัยขับเคลื่อนเฉพาะตัวที่ไม่มีในหุ้น Value เช่น การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีของภาครัฐ การค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ 

 

บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 30 มี.ค. 2565

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์ รัสเซีย-ยูเครน >> คลิกอ่าน

สรุปทิศทาง “กองทุนหุ้นจีน" >> คลิกอ่าน 

แนวโน้มธีมการลงทุนปี 2022 >> คลิกอ่าน​



Yes
3/31/2022