คลังเตรียมเก็บภาษีขายหุ้นในปีนี้ 0.10%
จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ที่อนุมัติการเก็บภาษีขายหุ้น หรือการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ในอัตรา 0.10% หรือ 0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น โดยในปีแรก (ตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ถึง 31 ธ.ค. 2566) จะมีการเก็บภาษีก่อนในอัตรา 0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น และจะจัดเก็บเมื่อพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ทางสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นไทย โดยอาจทำให้มูลค่าการซื้อขายลดลงอย่างน้อยประมาณ 30% และคาดว่ากลุ่มนักลงทุนที่จะได้รับผลกระทบจากภาษีขายหุ้นดังกล่าวจะเป็นกลุ่มนักลงทุนประเภทที่ซื้อขายระยะสั้นๆ (High Frequency Trading) ที่น่าจะลดความถี่ในการซื้อขายเนื่องจากต้นทุนการขายที่แพงขึ้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
คิดคำนวณภาษีขายหุ้นอย่างไร?
เริ่มเก็บ “ล้านละ 550 บาท” ปีต่อไป “ล้านละพัน” โดยกระทรวงการคลังระบุว่า จะเก็บจากธุรกรรมการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับตั้งแต่บาทแรก ตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ เพียงแต่ช่วงแรก จนถึงสิ้นปี 2566 จะจัดเก็บที่อัตรา 0.055%
เท่ากับว่า หากนักลงทุนขายหุ้น 100 บาท ก็จะเสียภาษี 0.055 บาท หรือขายหุ้น 1,000 บาท ก็จะเสียภาษี 0.55 บาท หรือขายหุ้น 10,000 บาท ก็จะเสียภาษี 5.5 บาท หรือขายหุ้น 100,000 บาท ก็จะเสียภาษี 55 บาท หรือขายหุ้น 1 ล้านบาท ก็จะเสียภาษี 550 บาทนั่นเอง ส่วนปีต่อ ๆไปก็จะจัดเก็บที่ “ล้านละ 1,000 บาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
มุมมองจาก บลจ.กสิกรไทย
มุมมองจากทีมจัดการกองทุนตราสารทุน คาดว่ามาตรการเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวที่คาดว่าจะเริ่มใช้ในช่วงเดือนเม.ย. 2566 จะกระทบมูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นให้ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อย่างไรก็ดี คาดว่านักลงทุนในตลาดจะปรับตัวและลงทุนตามมุมมองภาพเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะฟื้นตัวตามการกลับมาของนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ ในระยะยาวมาตรการเก็บภาษีขายหุ้นน่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนน้อยลงเนื่องจากสัดส่วนการเก็งกำไรระยะสั้นจะลดลง
ในส่วนผลกระทบทางตรงต่อกองทุนหุ้นไทยของ บลจ.กสิกรไทย นั้น จะเป็นในส่วนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าว ซึ่งผลกระทบจะขึ้นอยู่กับ Turnover Ratio ของแต่ละกองทุน
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาข้อมูลกองทุนในช่วง 1 ปีย้อนหลัง (สิ้นสุด 23 ธ.ค. 2565) พบว่าผลกระทบต่อผลตอบแทนกองทุนหากมีการเก็บภาษีขายหุ้นในอัตรา 0.11% ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากผลตอบแทนจริงในช่วงเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ สำหรับผลกระทบต่อการจัดการลงทุน มีมุมมองว่าการจัดเก็บภาษีไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากปรัชญาการลงทุนของบลจ.กสิกรไทยเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ดีและยั่งยืนอย่างสม่ำเสมอในระยะกลาง-ยาว และเน้นการลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยทางด้านปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นหลัก