3/23/2023

Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด และส่งสัญญาณใกล้จบการขึ้นดอกเบี้ย

​​​​​​​​​​​
HIGHLIGHTS :
​• Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ตามคาดการณ์ และส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
• มีการปรับลดคาดการณ์ GDP โดยคาดจะมีการขยายตัว 0.4% ในปีนี้
• คาด Fed ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการต่อสู้กับเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน หลังเกิดวิกฤตการธนาคารพาณิชย์
• ทั้งนี้ ต้นทุนดอกเบี้ยและแนวโน้มความเข้มงวดในการกำกับสถาบันการเงิน จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจให้ชะลอลง จนถึงโอกาสเกิดภาวะถดถอยได้
• ผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มในหุ้นสหรัฐฯ แนะนำรอประเมินสถานการณ์ และรอให้ความผันผวนเริ่มเบาลง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐฯ

Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด 

Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%  สู่ระดับ 4.75-5.00% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่วัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.2565

คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่ Fed (Dot Plot) อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 5.1% ในปีนี้ บ่งชี้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งหลังการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.8% ในปี 2567 และ 1.2% ในปี 2568 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%

ทั้งนี้ Fed ส่งสัญญาณใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย พร้อมกับแสดงความเชื่อมั่นต่อระบบธนาคารสหรัฐฯด้วย​​

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ Fed มีคาดการณ์ ดังนี้ 

มีการปรับลดคาดการณ์ GDP โดยคาดจะมีการขยายตัว 0.4% ในปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 0.5% ก่อนที่จะดีดตัวสู่ระดับ 1.2% และ 1.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%

อัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.6% ในปีนี้ และลดลงสู่ระดับ 2.6% ในปี 2567 และ 2.1% ในปี 2568 โดยอัตราว่างงานจะแตะระดับ 4.5% ในปีนี้ และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.6% ทั้งในปี 2567 และ 2568 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%​

มุมมองการลงทุน : ยังคงมุมมอง Slightly Negative สำหรับการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ 

แม้โอกาสการปรับขึ้นดอกเบี้ย Fed เข้าใกล้จุดสูงสุดตามที่ KAsset คาดที่ประมาณ 5.25% ในช่วงกลางปี แต่การคงดอกเบี้ยในระดับสูงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ (นอกจากจะเห็นการปรับลงของเงินเฟ้อตามที่คาด) ตามที่ประธาน Fed ได้ส่งสัญญาณในการประชุมเมื่อคืน เมื่อเปรียบเทียบกับมุมมองของนักลงทุนในตลาดที่คาดว่า Fed จะปรับลดดอกเบี้ยได้ในครึ่งปีหลัง และจบสิ้นปีที่ 4.4% นั้น ถือว่านักลงทุนในตลาดมองการปรับลดดอกเบี้ยต่างจาก Fed พอสมควร ซึ่งความต่างในจุดนี้ จะนำไปสู่ความผันผวนของตลาดต่อเนื่อง 

โดย KAsset มองว่า Fed จะใช้เครื่องมือดอกเบี้ยนโยบายเป็นตัวจัดการปัญหาเงินเฟ้อเป็นหลัก แต่จะระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยสะสมมาถึง 5% ณ ปัจจุบันเริ่มส่งผลต่อต้นทุนของทุกภาคส่วน โดย Fed จะใช้มาตรการเสริมสภาพคล่องเป็นหลักในการจัดการปัญหาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน

Fed ต้องหาจุดสมดุลระหว่าง การต่อสู้กับเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน 

ทั้งนี้ Fed กำลังเจอกับภารกิจที่ท้าทายในการหาจุดสมดุลระหว่างการต่อสู้กับเงินเฟ้อและการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยแม้ทางการสหรัฐฯและธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่แข็งแกร่ง ได้เข้ามาช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ธนาคารที่มีปัญหา และจำกัดการลุกลามของการแห่ถอนเงินฝาก (Bank Run) ไปได้ แต่ประเมินว่ามีโอกาสที่ธนาคารระดับภูมิภาค (Regional Bank) หรือธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ต่ำกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งไม่ได้มีการทำ Stress Test ดังเช่นธนาคารขนาดใหญ่ อาจมีการปะทุของปัญหาสภาพคล่องขึ้นมาได้อีก หากเป็นธนาคารที่มีปัญหาเฉพาะตัวอยู่แล้ว และมีการต้องขายสินทรัพย์ทางการเงินออกมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง ดังเช่น Silicon Valley Bank, Signature Bank โดยจำนวนธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ต่่ำกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น มีจำนวนถึง 2,113 แห่ง หรือคิดเป็น 41% ของสินทรัพย์ของภาคธนาคารทั้งหมดในสหรัฐฯ และในจำนวนนี้ 39% ของผู้ฝากไม่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากจาก FDIC
 
ต้นทุนดอกเบี้ยและแนวโน้มความเข้มงวดในการกำกับสถาบันการเงิน จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจให้ชะลอลง

การที่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาให้ความเห็นถึงการไม่สามารถรับประกันเงินฝากเป็นการทั่วไปได้ทั้งหมด (Blanket Insurance) เป็นการส่งสัญญาณถึงความระมัดระวังในการดำเนินการจัดการปัญหามากขึ้น โดย KAsset ประเมินว่า ต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับแนวโน้มความเข้มงวดของการกำกับสถาบันการเงินในช่วงถัดไปมากขึ้น จะเป็นผลต่อการชะลอลงของสินเชื่อโดยรวม ซึ่งกระทบต่อภาคเศรษฐกิจให้ชะลอลงจนถึงโอกาสเกิดภาวะถดถอย และมีผลต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ลดลงต่อไป 

อย่างไรตาม การออกมาตรการเสริมสภาพคล่องที่บรรดาผู้กำหนดนโยบายและธนาคารกลางหลักออกมาอย่างรวดเร็ว และธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ มีฐานทุนที่แข็งแกร่งกว่าตอนวิกฤตปี 2008 ประกอบกับปัญหาในระบบธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯปัจจุบันเกิดจากสภาพคล่อง ยังไม่ได้มาจากคุณภาพของลูกหนี้ จึงคาดว่าปัญหาวิกฤตในระบบธนาคารของสหรัฐฯปัจจุบัน จะไม่ลุกลามเป็นวงกว้างดัง เช่นวิกฤต Global Financial Crisis ในปี 2008

คำแนะนำการลงทุน  

สำหรับผู้ที่ถือหน่วยลงทุนของ กองทุนหุ้นสหรัฐฯ
ผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม : แนะนำรอประเมินสถานการณ์ รอให้ความผันผวนเริ่มเบาลง โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภาคธนาคารในสหรัฐฯ
ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนอยู่ : สามารถถือหน่วยลงทุนต่อได้ เนื่องจาก Valuation ของตลาดปรับมาใกล้ค่าเฉลี่ย และใกล้จุดสูงสุดของวัฎจักรดอกเบี้ย และเชื่อว่าทางการสหรัฐฯสามารถควบคุมปัญหาธนาคารขนาดกลางได้

“สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนจากที่ภาคธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯยังมีโอกาสจะปะทุได้อีก สามารถเข้าลงทุน K-PLAN2, K-PLAN3” เนื่องจากเน้นลงทุนในประเทศ จึงน่าจะได้รับผลกระทบจำกัดกว่าจากความผันผวนของปัจจัยนอกประเทศ

และสามารถเข้าลงทุน กองทุนตราสารหนี้ในประเทศ
แนะนำ K-SF (ถือมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป), K-CBOND (ถือมากกว่า 1 ปีขึ้นไป) การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่แรงเหมือนของสหรัฐฯ และได้รับผลกระทบจำกัดจากปัจจัยตลาดโลกที่กังวลต่อภาคธนาคารในสหรัฐฯและยุโรป

หมายเหตุ ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com

บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2023


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 

มุมมองการลงทุนหลังเกิดวิกฤต Credit Suisse >>Click
สินทรัพย์เสี่ยงตอบรับ หลังประชุม Fed >>Click
UBS เข้าซื้อ Credit Suisse กระทบหรือไม่? >>Click
Yes
3/23/2023