3/16/2023

มุมมองการลงทุนหลังเกิดวิกฤต Credit Suisse กระทบต่อระบบธนาคารโลก อย่างไร?

​​​

เกิดอะไรขึ้น กับระบบธนาคารยุโรป?​

15 มี.ค. หุ้นของธนาคาร Credit Suisse ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ร่วงลงต่ำสุดในประวัติการณ์ หลังประสบปัญหาในการเพิ่มทุน โดยเฉพาะจาก Saudi National Bank ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ Credit Suisse โดย Saudi National Bank ประกาศว่า ไม่สามารถเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินต่อ Credit Suisse เนื่องจากจะทำให้ Saudi National Bank ถือหุ้นใน Credit Suisse มากกว่า 10% ซึ่งจะเป็นการทำผิดกฎระเบียบธนาคาร โดยก่อนหน้านี้หุ้นธนาคารในยุโรปอยู่ในภาวะเปราะบางท่ามกลาง sentiment ในกลุ่มการเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ Silicon Valley Bank ในสหรัฐฯ

16 มี.ค. ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Swiss Financial Market Supervisory Authority ได้ออกมาประกาศพร้อมที่จะช่วยเหลือทางธนาคารเพิ่มเติมหากจำเป็น  

มุมมองต่อผลกระทบของ Credit Suisse โดยภาพรวม​

จากประเด็นเรื่องปัญหาของ Credit Suisse เริ่มต้นจากปัญหาผลขาดทุนจากการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาเรื่องงบการเงินที่อาจมีการล่าช้าจากประเด็นการควบคุมภายในด้านการรายงานตัวเลข แม้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรอย่างต่อเนื่องและมีการเพิ่มทุนสำเร็จจำนวน 4.2 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี 2022 แต่ประเด็นความวิตกกังวลจากผลกระทบต่างๆจาก Silicon Valley Bank รวมถึงข่าวจาก Saudi National Bank ซึ่งออกมาประกาศที่จะถือหุ้นไม่เกิน 10% จากเหตุผลด้านกฎหมาย ส่งผลให้ตลาดวิตกกังวลมากขึ้นโดยราคาหุ้นของ Credit Suisse มีการปรับตัวลดลง -24% และราคาตราสารอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ (CDS) ดีดตัวสูงขึ้น โดย 5-year CDS ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 442 bps สู่ระดับ 818 bps ในวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา
 
ปัจจุบันทาง Credit Suisse ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือที่วงเงิน 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 9.5% ของสินทรัพย์ และ 10.2% ของหนี้สิน และสูงกว่าผลขาดทุนในปี 2022 ถึง 9 เท่า นอกจากนี้ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ หรือ Swiss Financial Market Supervisory Authority ได้ออกมาประกาศพร้อมที่จะช่วยเหลือทางธนาคารเพิ่มเติมหากจำเป็น ทั้งนี้ ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ออกมาประกาศเพิ่มเติมว่า Credit Suisse มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งมาก และผ่านเกณฑ์ GSIBs (CET1 ratio ที่ 14.1% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่ม GSIBs ที่ 13.1% และสูงกว่า minimum requirement ที่ 9.3% อีกทั้งบริษัทยังมี Liquidity Coverage Ratio (LCR) ในระดับ 144% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่ม GSIBs ที่ 134%)  

อย่างไรก็ตาม KAsset มองว่า Credit Suisse จะต้องมีการเพิ่มทุนเพิ่มเติม และเร่งการปรับโครงสร้าง รวมถึงการควบคุมภายในให้ดียิ่งขึ้นเพิ่มเติมจากการที่ธนาคารกลางเข้ามาช่วยเหลือ และมองว่า มีโอกาสที่ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์อาจมีการเพิ่มทุนให้ธนาคาร รวมถึงเข้ามาประกันเงินฝาก รวมถึงโอกาสที่ Credit Suisse จะขายกิจการบางส่วนเพิ่มเติม

ผลกระทบจากประเด็น Credit Suisse ในปัจจุบันได้กระทบราคาของตราสารอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ (CDS) ของธนาคารยุโรปอื่นๆ แต่ยังไม่อยู่ในระดับสูง (เฉลี่ยประมาณ 50-70bps) ทาง KAsset คาดว่าธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์สามารถควบคุมไม่ให้สถานการณ์ลุกลามได้ แต่ในกรณีร้ายแรงที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาจจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพราะ Credit Suisse มีความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินอื่นและมีความสำคัญต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของโลก แต่โอกาสเกิดสถานการณ์ดังกล่าวในตอนนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ

ผลกระทบต่อกองทุน​

"KAsset ไม่มีการลงทุนโดยตรงใน Credit Suisse  แต่มีเพียงการลงทุนทางอ้อมผ่าน Feeder Fund ในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น"

มุมมองและคำแนะนำการลงทุนโดยภาพรวม​ 
เหตุการณ์ของ Credit Suisse กระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและความเสี่ยงต่อระบบ (Systemic Risk) ของธนาคาร มากกว่ากรณีของ Silicon Valley Bank เนื่องจาก Credit Suisse เป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นๆ และมีความสำคัญกับระบบการเงินโลกมากกว่า ซึ่งซ้ำเติมความกังวลต่อภาคการเงินของประเทศต่างๆ ต่อจากกรณี Silicon Valley Bank และ Signature Bank ที่เป็น Regional Bank ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี การที่บรรดาหน่วยงานและธนาคารกลางออกมาตอบสนองและให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว น่าจะช่วยลดความตระหนกที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินได้ ดังจะเห็นได้จาก CDS 5 ปี ของ Credit Suisse ที่ปรับลงจากจุดสูงสุดลงมา 83bps โดยเราคาดว่าความเสี่ยงระยะถัดไปในสถาบันการเงินยังคงมีอยู่ และมีโอกาสที่จะเห็นสถาบันการเงินที่ต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก เนื่องจากปัจจัยด้านการชะลอลงของเศรษฐกิจ และดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง อาจซ้ำเติมธนาคารที่มีพื้นฐานที่ไม่แข็งแรงอยู่แล้วให้ปะทุออกมาได้ในอนาคต   
 
​มุมมองและคำแนะนำการลงทุนต่อ ตลาดหุ้นโลก
คาดว่าความผันผวนในตลาดสินทรัพย์เสี่ยงระยะถัดไปยังคงมี จากความไม่แน่นอนของผลกระทบจาก Credit Suisse ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องไปทั่วโลก โดยต้องติดตามผลกระทบของ Credit Suisse ที่มีต่อสินทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ รวมถึงติดตามพัฒนาการของรายละเอียดมาตรการการช่วยเหลือ Silicon Valley Bank และ Credit Suisse และโอกาสที่จะธนาคารอื่นๆอาจมีปัญหาตามมา คาดว่านักลงทุนจะให้ความสำคัญกับแนวโน้มนโยบายการเงินของทั้ง Fed และ ECB ในแง่ของการสมดุลระหว่างนโยบายดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และเป้าหมายเสถียรภาพในระบบการเงิน โดยจับตาการประชุม ECB ในวันที่ 16 มี.ค. นี้ และการประชุม Fed 21-22 มี.ค.นี้ 

มุมมอง : ยังคงมุมมอง Neutral 
คำแนะนำ : เน้นให้เลือกภูมิภาคลงทุนที่เศรษฐกิจมีพัฒนาการที่ดีกว่า เช่น จีน เอเชีย ปัจจุบันแนะนำกองทุนหุ้นจีน เอเชีย และไทย 
 
มุมมองและคำแนะนำการลงทุนต่อ ตลาดหุ้นยุโรป
ตลาดหุ้นยุโรปอยู่ในภาวะปรับฐาน หลังจากที่เป็นหนึ่งในตลาดที่ปรับตัวบวกได้ดีมาตั้งแต่ต้นปี  

นอกจากความกังวลในการชะลอเศรษฐกิจ และกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ถูกปรับคาดการณ์ลง เงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงทำให้ ECB มีความยากลำบากในการสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายเงินเฟ้อ และเป้าหมายเสถียรภาพของระบบการเงิน 

มุมมอง : ยังคงมุมมอง Slightly Negative 
คำแนะนำ : ชะลอการลงทุนเพื่อประเมินสถานการณ์ 
สำหรับผู้ที่ถืออยู่ หากกังวลกับความผันผวน อาจขายบางส่วนไปกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำอย่าง K-SF สำหรับผู้ลงทุนใหม่ แนะนำรอประเมินสถานการณ์

มุมมองและคำแนะนำการลงทุนต่อ ตลาดตราสารหนี้โลก
ตราสารหนี้โลกยังเผชิญความผันผวนในระยะสั้น ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อพันธบัตรรัฐบาล

กรณี Credit Suisse จะกระทบความเชื่อมั่นและทำให้ตลาดเกิดความกังวลมากกว่ากรณี Silicon Valley Bank เนื่องจากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะเวลาใกล้เคียงกัน และ Credit Suisse มีธุรกรรมเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นๆ มากกว่า ส่งผลเชิง Sentiment ไปที่ภาคธนาคารและธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะในยุโรป ทั้งนี้ ตลาดคาดว่าธนาคารกลางหลักทั้ง Fed และ ECB อาจพิจารณาชะลอการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายเงินเฟ้อและเป้าหมายเสถียรภาพของระบบการเงินมากขึ้น รวมทั้งมีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยในระยะถัดไปได้เร็วกว่าที่เคยคาดไว้ สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว รวมถึง Fed Fund Futures ที่ประเมินโอกาสที่ Fed จะลดดอกเบี้ยภายในปี 2023 สูงถึง 99% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ให้โอกาสการลดดอกเบี้ยเพียง 10%

แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยที่ชะลอลงจะส่งผลดีต่อตราสารหนี้คุณภาพดี โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลัก เนื่องจาก Yield พันธบัตรจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและอาจลดลงได้ในระยะถัดไป อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อการลุกลามของสถานการณ์ จะส่งผลให้ Credit Spread ของตราสารหนี้ภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น โดยตราสารหนี้ในกลุ่ม High Yield จะได้รับผลกระทบที่มากกว่าตราสารหนี้คุณภาพดี (Investment Grade)

ในระยะสั้น คาดว่าความผันผวนในตลาดตราสารหนี้โลกจะยังอยู่ในระดับสูง โดยต้องติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะมาตรการของทางการที่จะเข้ามาควบคุมปัญหาว่าจะช่วยลดความตื่นตระหนกได้หรือไม่ โดยล่าสุดธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ได้ประกาศเข้าช่วยเหลือโดยให้เงินกู้ยืมแก่ Credit Suisse กว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ราคาหุ้นกลุ่มการเงินของยุโรปในช่วงเปิดตลาดวันที่ 16 มี.ค. เริ่มปรับตัวสูงขึ้น

มุมมอง: ยังคงมุมมอง Slightly Positive 
คำแนะนำ : การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล และเน้นการลงทุนในตราสารหนี้คุณภาพดี ชะลอการลงทุนในตราสารหนี้ High Yield จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจชะลอ และความผันผวนในระบบธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักที่ลดลง

หมายเหตุ ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค. 2566


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ธนาคาร SVB ปิดกิจการ !! กระทบกองทุนหรือไม่? >>Click
เลข CPI ปรับตัวสูง กระทบพอร์ตหรือไม่? >>Click
สินทรัพย์เสี่ยงตอบรับ หลังประชุม Fed >>Click
ตลาดผันผวนลดลง​ หลังสหรัฐฯเข้าคุ้มครองเงินฝาก >>​Click


Yes
3/16/2023