3/21/2023

UBS เข้าซื้อ Credit Suisse กระทบธนาคารและตราสารหนี้ไทย หรือไม่?

​​​​​

​​สถานการณ์ภายหลังการเกิดวิกฤตของ ธนาคาร Credit Suisse​

19 มี.ค. 65 UBS ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตกลงเข้าซื้อธนาคาร Credit Suisse ในวงเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส (3.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) 

20 มี.ค. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ธนาคาร Credit Suisse ระบุว่าตามของหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบสวิตเซอร์แลนด์ เงิน 1.6 หมื่นล้านฟรังก์สวิส หรือราว 1.722 หมื่นล้านดอลลาร์ จากหนี้หุ้นกู้ AT1* หรือตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Additional Tier 1) ของทางธนาคารจะถูกตัดเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นไปตามแผนการควบรวมกิจการ Credit Suisse ของ UBS Group AG 

ภายใต้ข้อตกลงนี้ ผู้ถือ AT1 ของ Credit Suisse จะสูญเสียเงินทั้งหมด และไม่มีสิทธิในการรับเงินชดเชย ขณะที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงิน 3.23 พันล้านดอลลาร์ภายใต้ข้อตกลงควบกิจการ ทั้งที่ปกติแล้วผู้ถือหุ้นจะถูกจัดให้มีสิทธิประโยชน์ในการรับเงินน้อยกว่าผู้ถือหุ้นกู้ในแง่ของการจ่ายเงินเมื่อบริษัทล้ม

พันธบัตร AT1 ที่ออกโดยธนาคารในยุโรปอื่น ๆ ลดลงอย่างมากในวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 มี.ค.) เนื่องจากการปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นกู้ Credit Suisse AT1 ได้เน้นย้ำถึงความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้​

หมายเหตุ : *AT1 คือ พันธบัตร Contingent Convertibles (CoCo) ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับแรงกระแทกหากระดับเงินกองทุนของธนาคารต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด สามารถแปลงเป็นทุนหรือตัดจำหน่ายได้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการรองรับเงินทุนที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องการให้ธนาคารถือครองเพื่อให้การสนับสนุนในช่วงเวลาที่ตลาดเกิดความวุ่นวาย


​มุมมองต่อตลาดตราสารหนี้ไทย :
“ตลาดการเงินไทยและตลาดตราสารหนี้ไทย ได้รับผลกระทบจากปัจจัยตลาดโลกข้างต้นจำกัด จากความเชื่อมโยงที่ต่ำต่อกลุ่มธนาคารที่ประสบปัญหา”
 
เพื่อรอดูสัญญาณที่ชัดเจนจาก Fed ในการหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่กำลังทยอยออกมา ซึ่งไม่ได้ดูสดใสมาก (ประกาศออกมาแล้ว 69% ของบริษัทในดัชนี S&P 500 ทั้งหมด) โดยบริษัทที่รายงานออกมารวมๆแล้วมีกำไรดีกว่าคาดแค่ 1.1% ซึ่งนับว่าต่ำสุดตั้งแต่ปี 2008 และหากตอนสิ้นช่วงประกาศผลประกอบการ อัตราการเติบโตของกำไรยังอยู่ในระดับที่ประกาศออกมาแล้วนั้น ไตรมาสที่ 4/2022 จะเป็นไตรมาสแรกที่ผลกำไรลดลง (year-over-year) ตั้งแต่ไตรมาส 3/2020 (ที่มา: Factset Earnings Insight 10 ก.พ. 2023) 

นอกจากนี้ มีผลเชิงลบที่จำกัดมากต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย เนื่องจากธนาคารไทยมีเงินกองทุนสำรองชั้นที่ 1 (Core Tier I) ถือว่าสูงมาก ที่สำคัญธนาคารไทยมี  AT1 เพียง 3% ของเงินกองทุน

ในปัจจุบัน ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคง ข้อมูล ณ สิ้นปี 2565 ระบบธนาคารไทย มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) 19.4% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดที่ 8.5% โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1)

นอกจากนี้ สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio : LCR) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 197.3% และมีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ในระดับต่ำที่ 2.73% ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) สูงถึง 171.9% ซึ่งถือเป็นสถานะที่ดีกว่าช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551 นอกจากนี้ ยังมีฐานลูกค้าทั้งในฝั่งสินเชื่อและเงินรับฝากที่กระจายตัวไปในกลุ่มรายย่อย ภาคธุรกิจ และ SMEs

สำหรับตลาดการเงินโลก ยังเห็นความกังวลของนักลงทุนอยู่บ้าง สะท้อนจากราคาหุ้นกลุ่มธนาคารที่ยังผันผวนสูง และราคาในการประกันความเสี่ยงของภาคธนาคารที่เพิ่มขึ้น (CDS)

มุมมองต่อตลาดหุ้นไทย : 
“คาดผลกระทบจำกัดต่อปัจจัยพื้นฐานของหุ้นกลุ่มธนาคาร​​”

เนื่องจากธนาคารไทยไม่มีการลงทุนตรงในตราสารหนี้ AT1 ของต่างประเทศ มีเพียงการออก AT1 ของธนาคารเองในธนาคารบางแห่ง ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 0.7-1% ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมด และเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบฐานเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ซึ่งโดยรวมอยู่ในระดับสูงกว่า 19% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 8.5%   

อย่างไรก็ดี คาดภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงถูกกดดันจากปัจจัยภายนอก  จากความกังวลต่อภาคการเงินในสหรัฐฯและยุโรป และแนวโน้มการชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก  ทั้งนี้  คาดตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวผันผวนตามตลาดหุ้นโลกในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศหลักๆในโลก ​ 

ผลกระทบต่อกองทุน ที่มีสัดส่วนใน Credit Suisse และหุ้นกู้ AT1​​

"กองทุน K-GINCOME : ยังมีมุมมองบวกในระยะยาว โดยในระยะสั้นแนะนำให้รอประเมินสถานการณ์ก่อน"

​กองทุนหลักมีสัดส่วนใน Credit Suisse เพียง 0.17% โดยจะแบ่งเป็น หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ที่ 0.14% และ AT1 ที่ 0.04% ส่วน Exposure ของกองทุนหลักที่มีบนสินทรัพย์ AT1 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดอยู่ที่ 1.5% แต่มีการลงทุนในกลุ่มการเงินประมาณ 20% ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันมีความไม่แน่นอน และส่งผลกระทบทั้งภาคธนาคารของสหรัฐฯและยุโรป 

อย่างไรก็ดี การที่ Fed และ Swiss National Bank​ ออกมาช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เพื่อจำกัดไม่ให้ปัญหาลุกลามในวงกว้าง จึงช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของธนาคารและนักลงทุนได้ ทั้งนี้ กองทุนหลักของ K-GINCOME มีการกระจายการลงทุนในกว่า 3,000 สินทรัพย์ และในหลายอุตสาหกรรม จึงคาดว่าผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนจะมีแบบจำกัด

"กองทุน K-PLAN2 และ K-PLAN3 : สามารถทยอยเข้าลงทุนได้ เพราะเน้นลงทุนในประเทศ จึงน่าจะได้รับผลกระทบที่จำกัดกว่า"



หมายเหตุ ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 21 มีนาคม 2023​
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ธนาคาร SVB ปิดกิจการ !! กระทบกองทุนหรือไม่? >>Click
มุมมองการลงทุนหลังเกิดวิกฤต Credit Suisse​ >>Click​
สินทรัพย์เสี่ยงตอบรับ หลังประชุม Fed >>Click
ตลาดผันผวนลดลง​ หลังสหรัฐฯเข้าคุ้มครองเงินฝาก >>​Click




Yes
3/21/2023