HIGHLIGHTS :
• Fed คงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ในปีนี้
• ด้านตัวเลขเศรษฐกิจมีปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP เพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานลง
• KAsset ยังคงมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะสั้น
• โดยมองว่าเงินเฟ้อถึงแม้ว่าจะปรับตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และ Fed อาจจะไม่รีบร้อนในการลดดอกเบี้ย โดยธีมการลงทุน Higher for Longer ยังคงมีความสำคัญในการจัดพอร์ต
• แนะนำจับตากำไรของไตรมาส 2 ที่กำลังจะประกาศออกมา โดยเฉพาะภาคธนาคาร หากยังคงมีความแข็งแกร่ง รวมถึงให้ Guidance ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง สามารถใช้จังหวะที่ตลาดปรับฐาน จนทำให้ Valuation น่าสนใจ เข้าทยอยซื้อสะสม
Fed คงดอกเบี้ยตามคาด แต่ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ในปีนี้
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 10 ครั้งติดต่อกัน นับตั้งแต่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565
ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่ Fed (Dot Plot) อัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ บ่งชี้ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีก 2 ครั้ง หลังการประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 4.6% ในช่วงสิ้นปี 2567 และแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปี 2568 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%
ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ Fed มีคาดการณ์ดังนี้
ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP
โดยคาดจะมีการขยายตัวสู่ระดับ 1.0% ในปีนี้ แต่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ในปี 2567 และ 2568 สู่ระดับ 1.1% และ 1.8% ตามลำดับ ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%
ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ
คาดจะเข้าสู่ระดับ 3.9% ในปีนี้ และอยู่ที่ 2.6% และ 2.2% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ
ปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงาน
ปรับสู่ระดับ 4.1% ในปีนี้ และอยู่ที่ 4.5% ทั้งในปี 2567 และ 2568 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%
มุมมองการลงทุนในภาพรวม
การตัดสินใจคงดอกเบี้ยไว้ที่ 5.00-5.25% ของ Fed ในครั้งนี้ เนื่องจาก Fed ต้องการดูผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ย ที่ขึ้นมาแล้ว 5% ภายใน 1 ปี และเป็นการ “คงดอกเบี้ย” เพื่อประเมินความเสี่ยงของการขึ้นดอกเบี้ยต่อระบบเศรษฐกิจ ก่อนที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ภายในปีนี้ (หากคาดการณ์โดยอ้างอิงจาก Dot Plot)
ท่าทีของ Fed สอดคล้องกับการประเมินของ KAsset ที่มองว่า เงินเฟ้อถึงแม้ว่าจะปรับตัวลง แต่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง และเป็นไปในทิศทางที่เราเคยประเมินว่า Fed อาจจะไม่รีบร้อนในการลดดอกเบี้ย
“โดยธีมการลงทุน Higher For Longer จะยังคงมีความสำคัญในการจัดพอร์ต”
มุมมองการลงทุน ตลาดตราสารทุน
KAsset มองว่าการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ยังคงต้องใช้ความระมัดระวัง หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield) จะเห็นว่าสูงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551 Fed ปรับดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ในระดับ Restrictive Zone ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าเงินเฟ้อแล้ว และยังมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ ทำให้ตลาดยังคงรอดูว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ
“ทั้งนี้ KAsset มองว่าความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยยังคงมีอยู่ และควรจับตาดูในส่วนของเศรษฐกิจที่เปราะบาง เช่น ภาคการเงิน หรือภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ”
คำแนะนำการลงทุน : “KAsset ยังคงมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯในระยะสั้น”
ถึงแม้ว่าวัฎจักรการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed จะเข้าใกล้จุดสิ้นสุดแล้ว แต่เราคิดว่านักลงทุนยังคงต้องใช้ความอดทน เพื่อรอดูผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจจริง นอกจากนี้ เราคิดว่า ยังคงมีความไม่แน่นอนว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยอีกกี่ครั้งในปีนี้ และคงดอกเบี้ยไว้ในระดับที่สูงนานเท่าไหร่ ทำให้ตลาดสหรัฐฯ อาจมีความเสี่ยงในระยะสั้นๆ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเราจะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีความเสี่ยง แต่เนื่องจากกำไรในไตรมาส 1 ที่ประกาศออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดในบางอุตสาหกรรม และบริษัทสามารถให้ Guidance ที่สะท้อนการเติบโตของธุรกิจได้ดี
"ทำให้เรามองว่า นักลงทุนควรจับตามองกำไรของไตรมาส 2 ที่กำลังจะประกาศออกมา โดยเฉพาะภาคธนาคาร หากกำไรของบริษัทสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า รวมถึงให้ Guidance ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เรามองว่าควรใช้จังหวะที่ตลาดปรับฐาน จนทำให้ Valuation น่าสนใจ เข้าทยอยซื้อสะสม"
หมายเหตุ ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com
บทความโดย คุณมทินา วัชรวราทร, CFA, Head, Investment Management Strategy บลจ.กสิกรไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2023
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
มุมมองการลงทุน หลังเลือกตั้ง พ.ค. 2566 >>
Clickแบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ย +0.25% เป็น 2% ตามคาด >>
Clickจีนวางเศรษฐกิจ สู่ชาติผู้นำนวัตกรรม >>
Click