6/1/2023

แบงก์ชาติปรับขึ้นดอกเบี้ย +0.25% เป็น 2% ตามคาด​

HIGHLIGHTS :
• กนง.มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 2% ต่อปี ตามคาด
• เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
• อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
• KAsset มองดอกเบี้ยนโยบายไทยและโลกเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว และการปรับขึ้นของ Bond Yield จะจำกัดมากขึ้น
• เนื่องจากความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ลดลง การลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่คุณภาพดี จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการกระจายความเสี่ยง แนะนำกองทุน K-PLAN1 และ K-FIXEDPLUS

กนง.มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาด 
เมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 66) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี เป็น 2.00% จาก 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที

เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
กนง.มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลบวกต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน รวมถึงเป็นแรงส่งต่อเนื่องไปยังการบริโภคภาคเอกชน โดยคาดการณ์ GDP ไทย จะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.6% ในปี 2566 และ 3.8% ในปี 2567 ด้านการส่งออกทยอยฟื้นตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ และคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นในระยะต่อไป 

สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่แม้จะชะลอลงบ้างแต่ยังมีทิศทางขยายตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งจากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐ อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่ยังมีความไม่แน่นอน

อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงจากแรงกดดันจากทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน
อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และคาดว่าจะอยู่ที่ 2.5% ในปี 2566 และ 2.4% ในปี 2567 จากแรงกดดันจากค่าไฟฟ้าและราคาน้ำมันที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 2.0% ในปี 2566 และ 2567 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเทียบกับอดีต 

ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวดี รวมทั้งการส่งผ่านต้นทุนผู้ประกอบการอาจปรับสูงขึ้นจากแรงกดดันด้านอุปทาน ซึ่งส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐในระยะต่อไป จึงต้องติดตามพฤติกรรมการปรับราคาของผู้ประกอบการที่อาจเปลี่ยนไป (ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย 31 พฤษภาคม 2566)

มุมมองการลงทุนจาก KAsset 
ดอกเบี้ยนโยบายไทยและโลกเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว การปรับขึ้นของ Bond Yield จะจำกัดมากขึ้น
กนง. มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ตามคาดการณ์ของตลาด แต่คาดว่าหลังจากนี้ กนง. น่าจะเลือกเฝ้าติดตามอย่างระมัดระวังและรอประเมินสถานการณ์ไปก่อน (Wait-and-see approach) หากมีการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจทำได้อีกไม่มาก ราว 0.25%-0.50% โดยจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ความเสี่ยงด้านสูงของอัตราเงินเฟ้อ และโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว
 
ทั้งนี้ การประชุมล่าสุด กนง. ยังไม่ส่งสัญญาณชัดเจน ว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.0% แต่มีการปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ลงเหลือ 2.5% จากเดิม 2.9% และเงินเฟ้อพื้นฐานเหลือ 2.0% จาก 2.4% ทั้งในปี 2566 และ 2567 ซึ่งสะท้อนมุมมองว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลงกว่าที่คาด เป็นเหตุผลสนับสนุนกรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ระดับสูงสุด (Terminal rate) ที่ 2.0% 

ความผันผวนตลาดตราสารหนี้ลดลง 
ตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ทั้งนี้อาจมีความผันผวนในบางขณะได้ตาม Event Risk ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราว 

ตราสารหนี้เอกชนคุณภาพดีเป็นทางเลือกที่ดีในการกระจายความเสี่ยง
การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนยังเป็นทางเลือกลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนเพิ่มเติมจากส่วนต่างด้านเครดิต และยังมีความมั่นคงภายใต้ความเสี่ยงการผิดชำระหนี้ที่ต่ำ เนื่องจากตลาดคาดว่าเศรษฐกิจไทยทยอยขยายตัวได้ โดยได้ปัจจัยหนุนหลักจากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเป็นวงกว้างเเละการบริโภคภาคครัวเรือนที่ดีขึ้น 

คำแนะนำการลงทุน สำหรับกองทุนตราสารหนี้ไทย 
ในช่วงเดือน มิ.ย. 66 KAsset แนะนำ K-PLAN1​ และ K-FIXEDPLUS ที่กองทุนจะมีนโยบายให้ลงทุนในต่างประเทศได้บางส่วนเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติม มากกว่าการลงทุนกระจุกตัวในประเทศเพียงอย่างเดียว 

ทั้งนี้ หากลูกค้าไม่สามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนต่างประเทศได้ KAsset แนะนำให้ลงทุนใน K-CBOND​ ที่เป็นตราสารหนี้ระยะกลาง ควรลงทุนตั้งแต่ 9-12 เดือนขึ้นไป หรือ K-FIXED ที่เป็นตราสารหนี้ระยะยาว ควรลงทุนตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป


หมายเหตุ ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com

บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2023

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
มุมมองการลงทุน หลังเลือกตั้ง พ.ค. 2566 >>Click
กองทุน LTF ครบกำหนด ..ทำอย่างไรดี ? >>Click
GDP จีนไตรมาสแรกขยายตัว 4.5% สูงกว่าคาด >>Click​​
จีนวางแผนเศรษฐกิจ สู่ชาติมหาอำนาจ >>Click​

 
Yes
6/1/2023
0