10/26/2022

หุ้นจีนถูกเทขายหนัก นี่คือ…โอกาส จริงหรือไม่?

​​​​​

HIGHLIGHTS :
• ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงทรุดตัวหนัก หลังเสร็จสิ้นประชุมพรรคคอมมิวนิวต์
• จีนรายงาน GDP ไตรมาส 3 ดีกว่าคาด แต่การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ 
• เปิดตัวผู้นำคณะกรรมการถาวรประจำกรมเมืองชุดใหม่ สายสัมพันธ์แนบแน่น สี จิ้นผิง 
• จีนยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดล็อกดาวน์ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ต่อไป 
• ในระยะสั้น ตลาดหุ้นจีนยังคงมีความผันผวนสูง จนกว่าจะมีความชัดเจนด้านนโยบายออกมา
• สำหรับผู้ลงทุนที่รับความผันผวนในระยะสั้นได้ ถือเป็นโอกาสทยอยสะสม โดยเน้นการลงทุนในหุ้นจีนที่เน้นการบริโภคในประเทศ มากกว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

การประชุมสมัชชาใหญ่ของพรรคคอมมิวนิวต์จีนได้สิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติรับรองให้ สี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 3 

เปิดตัวผู้นำคณะกรรมการถาวรประจำกรมเมืองชุดใหม่ สายสัมพันธ์แนบแน่น สี จิ้นผิง
นอกจากนั้นที่ประชุมมีการเปิดตัวผู้นำคณะกรรมการถาวรประจำกรมเมือง (โปลิตบูโร) ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ ปธน. สี จิ้นผิง ทำให้นักลงทุนกังวลว่า ปธน. สี จิ้นผิง จะมีอำนาจควบคุมเศรษฐกิจประเทศอย่างเต็มตัว อีกทั้งการที่เศรษฐกิจนำโดยบุคคลที่ใกล้ชิดกับ ปธน. เพียงอย่างเดียว อาจนำไปสู่การใช้นโยบายที่ผิดพลาดได้ง่ายขึ้น และทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบต่อเศรษฐกิจ 

ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตอาจให้น้ำหนักเรื่องความมั่นคงด้านความปลอดภัยเป็นหลัก และอาจไม่ให้น้ำหนักเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปด้านนโยบายมากเท่าที่ควร 

จีนยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดล็อกดาวน์ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ต่อไป
นอกจากนั้นที่ประชุมไม่ได้มีการพูดถึงการผ่อนคลายนโยบายควบคุมโควิด-19 แต่อย่างใด ทำให้ประเทศจีนยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดล็อกดาวน์ตามเมืองต่างๆรวมถึงเมืองใหญ่หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เป็นผลดีต่อธุรกิจที่ดำเนินการโดยภาคเอกชน ทำให้เกิดแรงขายสินทรัพย์ของประเทศจีนออกมาเมื่อวานนี้ (24 ต.ค. 2565)

ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง ทรุดตัวหนัก โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยี
ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ที่ 24 ต.ค. ปรับตัวลงกว่า -6.4% นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ทรุดตัวลงอย่างมาก ด้านตลาด Shanghai Composite ปรับตัวลงประมาณ -2% และ Invesco Golden Dragon China ETF ซึ่งเป็นดัชนีหุ้นของประเทศจีนที่จดทะเบียนในตลาดสหรัฐฯประกอบไปด้วยหุ้น 65 ตัว ทรุดตัวกว่า -14.5% แตะระดับต่ำสุดนับแต่ปี 2552 ราคาหุ้นของบริษัทโทคโนโลยีของจีนในตลาดสหรัฐฯทรุดตัวอย่างหนักโดย  Alibaba ปรับตัวลดลง -12% Pinduoduo ทรุดหนักถึง -24.6% Tencent Holding ย่อตัว -14.2% และ Meituan -16.7% 

สำหรับกองทุนของ KAsset ที่ลงทุนในประเทศจีน ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน โดย JPM China ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-CHINA มีนโยบายลงทุนในหุ้นของประเทศจีนที่จดทะเบียนอยู่ทั่วโลกปรับตัวลดลงมากถึง -7.9% ด้านกองทุนหลักของ K-CHX ที่ลงทุนในหุ้นจีนขนาดใหญ่ที่สุด 50 ตัวแรกในตลาด A-Shares ย่อตัว -3.94% ส่วนกองทุนหลักของ K-CCTV ที่เน้นลงทุนในหุ้นจีน A-Shares เป็นหลัก ได้แก่ Schroder ISF China A และ UBS China A Opportunity ปรับตัวลง -1.86% และ -3.99% ตามลำดับ 

จีนรายงาน GDP ไตรมาส 3 ดีกว่าคาด แต่การบริโภคภาคเอกชนยังอ่อนแอ
GDP ของประเทศจีนในไตรมาส 3 ขยายตัว 3.9%YoY ดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 3.3%YoY และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้เพียง 0.4%YoY เท่านั้น หนุนโดยการบริโภคในประเทศที่สามารถฟื้นตัวมาเติบโตได้ 3.9% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวลง -1.6% แต่ส่วนใหญ่มาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายภาครัฐ ไม่ได้มาจากการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเดือนกันยายนเติบโต 16.3% ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment: FAI) เติบโต 6.5%YoY ขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงถูกกดดันต่อเนื่องโดยหดตัว -12.1% แต่เป็นการหดตัวที่น้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ ยอดขายภาคการค้าปลีกยังไม่แข็งแรงโดยการขยายตัวชะลอตัวลงมาเหลือ 2.5% หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น และยอดขายเครื่องใช้ในบ้านชะลอตัว

การบริโภคในประเทศที่ยังอ่อนแอ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะยาวยังไม่มั่นคง Morgan Stanley คาดว่า GDP ไตรมาส 4 ปี 2565 และไตรมาส 1 ปี 2566 ของจีนจะขยายตัวได้เพียง 3%YoY ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูง ขณะที่การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 อาจต้องรอนานถึงไตรมาส 2 ปีหน้า นอกจากนั้นภาคอสังหาฯจะยังคงเป็นประเด็นกดดันเศรษฐกิจไปต่อเนื่อง ดังนั้นแม้ว่า GDP จะเติบโตได้ดีกว่าที่คาดไว้ แต่แนวโน้มการเติบโตในอนาคตที่ยังไม่ชัดเจน ร่วมกับความกังวลแนวการการดำเนินเศรษฐกิจในระยะ 5 ปี ข้างหน้าของผู้นำคอมมิวนิวต์จีนชุดใหม่ จึงทำให้ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อเนื่อง

มุมมองการลงทุนจาก บลจ.กสิกรไทย
ตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมา แม้ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายอยู่ แต่ก็ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้ายังคาดว่าจะเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆอยู่ จากปัจจัยในเรื่องของนโยบายโควิดและปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ภาพรวมถือว่าดูดีขึ้นกว่าเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

ในระยะสั้น ตลาดหุ้นจีนยังคงมีความผันผวนสูง จนกว่าจะมีความชัดเจนด้านนโยบายออกมา

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารประเทศยังไม่มีรายละเอียดด้านนโยบายเพิ่มเติมออกมา ทำให้คาดว่าช่วงสั้น ตลาดยังคงมีความผันผวนสูง จนกว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้น 

อย่างไรก็ดี การปรับลงของตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้ เกิดจาก sentiment ต่อความกังวลด้านนโยบายมากกว่าด้านปัจจัยพื้นฐาน ไม่ได้เป็นกรณี credit event หรือมี panic ในตลาดการเงิน หรือปัญหาสภาพคล่องใดๆ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ดังนั้นหากความกังวลด้านนโยบายบรรเทาลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทยอยดีขึ้นตามคาด ความผันผวนในตลาดหุ้นจีนน่าจะลดลงได้

ปัจจัยที่ต้องจับตาในระยะข้างหน้า คือ การประชุม Economic Porlitburo Meetings ในเดือนธันวาคม และ 2022 Central Economic Work Conference รวมถึงการควบคุมในกลุ่มเทคโนโลยีว่าจะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่ และการผ่อนคลายนโยบายควบคุมโควิด

คำแนะนำการลงทุน 
ระยะสั้น แม้คาดว่าความผันผวนยังสูงจากความไม่แน่นอนด้านนโยบาย แต่แนวโน้มตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่ประกาศออกมาดีกว่าคาด รวมถึงราคาหุ้นที่ร่วงลง ทำให้ valuation ปรับลงมาต่ำเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน

สำหรับผู้ลงทุนที่รับความผันผวนในระยะสั้นได้ : มองเป็นโอกาสทยอยสะสม โดยเน้นการลงทุนในหุ้นจีนที่เน้นการบริโภคในประเทศ มากกว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีหรือหุ้นที่จดทะเบียนในฮ่องกง เนื่องจากจะมีความไม่แน่นอนของนโยบายที่เกี่ยวข้อง (K-CHX จะได้รับผลกระทบด้านนโยบายจำกัดกว่า เนื่องจากเน้นกลุ่มบริโภคในประเทศ ขณะที่มีกลุ่มเทคฯเพียง 2.4% ณ 31 ส.ค. 2565)

สำหรับผู้ที่รับความผันผวนได้น้อย : แนะนำชะลอการลงทุน
ระยะกลาง การที่ประธานาธิบดี สี รวบอำนาจได้ ทำให้คาดว่าการดำเนินนโยบายต่างๆจะทำได้มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ ในปี 2566 คาดว่า GDP จะฟื้นตัวได้จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการโควิดหลังการประชุม NPC ในเดือน มี.ค. 2565 อีกทั้งเมื่อเทียบกับภาพรวมเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วที่อัตราการเติบโตชะลอหรืออาจถดถอย และจีนยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ทำให้การลงทุนในจีนยังน่าสนใจกว่าในเชิงเปรียบเทียบ


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 25 ต.ค. 2565
หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
Recession คือโอกาสตุน หุ้นดี ราคาถูก >> อ่านต่อ
หุ้นเวียดนาม ทำไมปรับตัวลงแรง? >> อ่านต่อ
หุ้นจีน ผ่านมา 1 ปี ยังดีอยู่ไหม? >> อ่านต่อ


​​
Yes
10/26/2022