HIGHLIGHTS :
• Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงนานขึ้น
• ตลาดหุ้นตอบรับเชิงลบ ทั้ง S&P 500, Dow Jones และ Nasdaq รวมทั้งตลาดหุ้นเอเชีย
• ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการลงทุน จะเป็นพัฒนาการของเศรษฐกิจไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า
• สำหรับการลงทุนระยะยาวและรับความผันผวนระยะสั้นได้ แนะนำถือต่อไปได้ ด้วย Valuation ที่ปรับลงมาใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี
• หากต้องการลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม แนะนำทยอยขายบางส่วนในจังหวะที่ตลาดเด้งระยะสั้น
Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ตามคาด พร้อมส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงนานขึ้น
Fed มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี โดยเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 7 ในปีนี้ หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 1 ครั้ง 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และ 0.75% จำนวน 4 ครั้ง ส่งผลให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 4.25% ในปีนี้
ทั้งนี้ คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่ Fed (Dot Plot) คณะกรรมการฯ คาดว่าจะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปในปีหน้า และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) สู่ระดับ 5.1% ในปีหน้า หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% และจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง
ส่วนประมาณการ GDP ปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 0.5% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 0.2% แต่ปรับลดคาดการณ์ในปี 2566 สู่ระดับ 0.5% จากเดิมที่ระดับ 1.2% และคาดว่าจะขยายตัว 1.6% และ 1.8% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ขณะที่การขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%
ด้านอัตราว่างงาน Fed คาดว่าจะแตะระดับ 3.7% ในสิ้นปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.8% และเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.6% ทั้งในปี 2566 และ 2567 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4.5% ในปี 2568 ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%
อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) จะแตะระดับ 4.8% ในสิ้นปีนี้ เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.5% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 3.5%, 2.5% และ 2.1% ในปี 2566, 2567 และ 2568 ตามลำดับ
(ที่มา: ryt9)
ตลาดหุ้น ตอบรับในเชิงลบ ทั้งสหรัฐฯ และเอเชีย
จากถ้อยแถลงของประธาน Fed ที่จะไม่เปลี่ยนแปลงเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% และมองว่าขณะนี้ ยังเร็วเกินไป ที่จะพูดถึง การปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจาก Fed ให้ความสำคัญกับการใช้นโยบายการเงินที่มีการคุมเข้ม มากพอที่จะฉุดเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายดังกล่าว
สร้างความกังวลให้นักลงทุน ว่า Fed จะคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานขึ้น ทำให้ดัชนีหุ้นสหรัฐฯทุกดัชนีปรับตัวลง ทั้ง S&P 500 (-0.61%), Dow Jones (-0.42%) และ Nasdaq (-0.76%) และในวันนี้ (15 ธ.ค.) ตลาดหุ้นเอเชียต่างปรับตัวลงตามทิศทางเดียวกัน
มุมมองการลงทุน
ตลาดหุ้นสหรัฐฯปัจจุบันสะท้อนความคาดหวังต่อสัญญาณเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง และความคาดหวังต่อการขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง จึงคาดว่าในระยะถัดไป ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการลงทุน จะเป็นพัฒนาการของเศรษฐกิจไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ soft landing โดย Bloomberg consensus คาดการณ์ว่าโอกาสที่สหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอยใน 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 60%
นอกจากนี้ การทรงดอกเบี้ยในระดับสูง จะมีผลต่อการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่แตกต่างกันไป โดยคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสถูกปรับลงได้อีกจากปัจจุบัน Bloomberg consensus คาดการณ์กำไรของ S&P 500 เติบโต 6.8% ในปีหน้า ผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของอุปสงค์
คำแนะนำการลงทุน
ผู้ที่ถือหน่วยกองทุนหุ้นสหรัฐฯ อยู่เดิม : แนะนำให้ทยอยขายบางส่วนในจังหวะที่ตลาดเด้งระยะสั้นหากต้องการลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม แต่สำหรับการลงทุนระยะยาวและรับความผันผวนระยะสั้นได้ แนะนำถือต่อไปได้ ด้วย Valuation ที่ปรับลงมาใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี
ผู้ที่ต้องการเข้าลงทุน : สำหรับผู้ที่รับความผันผวนได้น้อย แนะนำชะลอการลงทุน เนื่องจากความผันผวนของตลาดยังอยู่ระดับสูง จากคาดการณ์กำไรบริษัทจดทะเบียนมีโอกาสถูกปรับลงได้อีก แต่สำหรับการลงทุนระยะยาวและรับความผันผวนระยะสั้นได้ ถือว่า Valuation ที่ปรับลงมาใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปีอยู่ระดับที่เริ่มสะสมลงทุนได้
บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย
ข้อมูล ณ วันที่ 15 ธ.ค. 2565
หมายเหตุ "ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน"
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ลงทุน ไทย-เวียดนาม จะไปต่อ...หรือพอก่อน? >>Click
IMF เผย GDP ไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น จัดพอร์ตอย่างไรดี? >>Click
ดัชนีเงินเฟ้อสหรัฐฯ 7.7% ต่ำกว่าคาด ตัวเลข CPI บอกอะไร? >>
Click