Highlight:
ปารีสเกมส์ 2024 มุ่งมั่นลดการปล่อยคาร์บอนในหลายกิจกรรม ทั้งลดการก่อสร้างสนามใหม่ ใช้วัสดุรีไซเคิล จัดหาวัตถุดิบอาหารจากท้องถิ่น หลีกเลี่ยงการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซล และส่งเสริมการใช้จักรยาน
แม้ประเด็นความยั่งยืนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้ แต่สุขภาพและความปลอดภัยของนักกีฬาก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งคณะจัดงานต้องสร้างสมดุลและรับมือกับความท้าทายหลายประการทั้งอากาศร้อน การตรวจสอบและปรับปรุงคุณภาพของน้ำในแม่น้ำแซนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยสำหรับนักกีฬาเพื่อใช้ในการแข่งขัน และการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวและผู้ชมจำนวนมากจากทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงผู้สนับสนุนงานรายใหญ่อย่าง Coca Cola จากประเด็นการใช้ขวดพลาสติก และ Toyota เรื่องประเด็นการจัดหายานพาหนะไฮโดรเจน แต่ประธานจัดงานยังคงให้ความเชื่อมั่นว่าบริษัททั้งสองจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่สามารถลดการปล่อยคาร์บอนของปารีสเกมส์ 2024 ลงได้
Olympic Games Paris 2024 กับการวางตัวเป็นโอลิมปิกที่ยั่งยืนที่สุด !!
กีฬาโอลิมปิก 2024 ฤดูกาลแห่งการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้ได้มาถึงแล้ว โดยถูกจัดขึ้นในช่วง 26 กรกฎาคม - 11 สิงหาคม 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส หรือเรียกว่า “ปารีสเกมส์ 2024" ซึ่งปีนี้เป็นปีที่พิเศษ โดยคณะจัดงานได้เปิดเผยว่าจะเป็นโอลิมปิกเกมส์ที่ยั่งยืนที่สุดในประวัติศาสตร์ และมุ่งมั่นจะลดการปล่อยคาร์บอนลงครึ่งหนึ่งของลอนดอนเกมส์ 2012 และริโอเกมส์ 2016 หรือเหลือประมาณ 1.65 – 1.80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
คณะจัดงานปารีสเกมส์ 2024 ได้ให้ความสำคัญกับหลายกิจกรรม ได้แก่
- สร้างสนามแข่งขันใหม่เพียงสองแห่ง และก่อสร้างแบบคาร์บอนต่ำ (low-carbon construction methods)
- เฟอร์นิเจอร์จากวัสดุรีไซเคิล เช่น โต๊ะกาแฟจากลูกขนไก่ เก้าอี้จากฝาขวดน้ำ เบาะจากผ้าใบร่มชูชีพและเตียงนอนนักกีฬาจากกระดาษแข็ง
- เพิ่มอาหารจากพืชเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับโอลิมปิกครั้งก่อน และ 80% ของวัตถุดิบอาหารได้มาจากท้องถิ่นเพื่อลดกิจกรรมการขนส่ง
- สนามแข่งขันเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าสาธารณะ เพื่อหลีกเลี่ยงการผลิตไฟฟ้าเองด้วยเครื่องยนต์ดีเซล (diesel generators for power)
- เชื่อมเส้นทางจักรยานกว่า 60 กิโลเมตร กับสถานที่จัดงานต่าง ๆ ของโอลิมปิก

อย่างไรก็ดี มีความท้าทายหลายประการทั้งอากาศที่ร้อนจัด คุณภาพของน้ำในแม่น้ำแซน และการหลั่งไหลของผู้มาร่วมงานจำนวนมาก
รายงานจาก University of Portsmouth ได้ออกมาเตือนถึงผลกระทบของความร้อนจัดที่มีต่อนักกีฬา โดยพบว่าฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีนี้อุณหภูมิเฉลี่ยอาจร้อนกว่าทุกปี ทำให้คณะจัดงานต้องติดตั้งเครื่องทำความเย็นชั่วคราวในหมู่บ้านนักกีฬา จากเดิมที่จะไม่มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องคุณภาพน้ำในแม่น้ำแซน (the River Seine) สำหรับการแข่งขันไตรกีฬาและว่ายน้ำ หลังจากมีการตรวจพบว่าคุณภาพของน้ำไม่ผ่านเกณฑ์เมื่อเดือนที่แล้ว และความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการเดินทางมาร่วมงานของแฟน ๆ กีฬาโอลิมปิก ซึ่งคาดว่ามีส่วนปล่อยก๊าซคาร์บอนได้กว่า 80% ของทั้งงาน และปีนี้จะมีผู้ชมชาวต่างชาติมากขึ้นเนื่องจากมีการขายตั๋วทั่วโลกพร้อมกัน (สวนทางกับลอนดอนเกมส์ 2012 ที่ขายตั๋วให้แก่ชาวอังกฤษ 3 ใน 4 ของผู้ร่วมงาน)

ข้อถกเถียงของบทบาท Coca Cola และ Toyota ในการสนับสนุนปารีสเกมส์ 2024
- Coca Cola ผู้สนับสนุนหลักของโอลิมปิก ถูกจัดอันดับให้เป็นผู้ก่อมลภาวะพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของโลก จากการสำรวจของหน่วยงาน Break Free From Plastic
- Toyota จะจัดหายานพาหนะเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (hydrogen-fuel cell vehicles) 500 คัน อำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานโอลิมปิก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และวิศวกรได้โต้แย้งว่ายานพาหนะดังกล่าวใช้ไฟฟ้ามากกว่ายานพาหนะแบบใช้แบตเตอรี่ (battery electric vehicles) ถึงสามเท่า
Thomas Bach ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) เชื่อมั่นว่าการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า ไฮบริด และพลังงานไฮโดรเจน (EVs, hybrid, and hydrogen-powered vehicles) ถือเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของปารีสเกมส์ 2024 และเสริมว่า Coca Cola จะใช้ตู้กดเครื่องดื่ม ซึ่งจะลดการใช้พลาสติกลง 50% รวมถึงภายในงานมีแผนจะใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ซ้ำได้
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ Le Monde ระบุว่า 40% ของเครื่องดื่มภายในงานยังคงใช้ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และนักกีฬากว่า 100 คน ได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึกให้ Coca Cola และ Pepsi ยุติการใช้ขวดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
ความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราทุกคนควรตระหนัก
Bach ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความยั่งยืน โดยกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น "ภัยคุกคามที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่สำหรับวงการกีฬา แต่รวมถึงชีวิตของพวกเราทุกคน" จึงเป็นเหตุผลที่ต้องปฏิรูปการจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้
ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพจากสำนักข่าว BBC Sport
เนื้อหาโดย: ฝ่ายจัดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 2567
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
จุดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แผนพลังงานชาติ? >>Click
โลกร้อนขึ้น ส่งผลต่อระบบนิเวศ อย่างไร? >>Click
เป้าหมาย Net Zero ไทย ไม่ไกลเกินเอื้อม >>Click
ได้เวลาลงทุนด้าน Climate Change >> Click
โลกร้อนหลบไป โลกเดือดกำลังเข้ามาแทน >> Click