3/1/2023

ปรับพอร์ตอย่างไร? ในวันที่เศรษฐกิจโลกกำลังสะเทือน​

​​​​​​
HIGHLIGHTS :
• ธนาคารโลกเผยคาดการณ์ GDP ทั่วโลก ลดลงจาก 3.0% เหลือ 1.7%
• หลายปัจจัยรุมเร้า กดดันให้เศรษฐกิจโลกถดถอยถึง 2 ครั้งในทศวรรษเดียว
• แนะนำปรับกลยุทธ์การลงทุน Portfolio Rebalancing เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย​

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ท่ามกลางพายุเศรษฐกิจที่ซัดกระหน่ำทั่วโลกในเวลานี้ ได้สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ และพอร์ตของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ซึ่งหากจะคาดหวังให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในเร็ววัน ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องง่าย 

ธนาคารโลกเผยคาดการณ์ GDP ทั่วโลก ลดลงจาก 3.0% เหลือ 1.7%

ตามการรายงาน Global Economic Prospects ของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 66 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มถดถอย พร้อมกับปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ภายในประเทศทั่วโลกลดลงมาเหลือ 1.7% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 6 เดือนก่อนที่ 3.0% 

โดยนักลงทุนที่ติดตามข่าวสารคงพอจะทราบดีว่า มีปัจจัยต่าง ๆ รุมเร้าเศรษฐกิจให้เกิดความผันผวนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็น

- อัตราดอกเบี้ยธนาคารโลกอยู่ในระดับสูง

- ภาวะเงินเฟ้อ

- การแพร่ระบาดของโควิด 19

 

หลายปัจจัยรุมเร้า กดดันให้เศรษฐกิจโลกถดถอยถึง 2 ครั้งในทศวรรษเดียว

ปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นส่วนสำคัญ ที่อาจผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย อีกทั้งยังถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 80 ปี ที่เศรษฐกิจโลกถดถอยถึง 2 ครั้งในทศวรรษเดียว 

จากภาวะดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบแค่เฉพาะปัญหาปากท้องของผู้คนเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายต่อมูลค่าสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยเฉพาะตราสารทุน ที่เป็นสินทรัพย์เสี่ยงอีกด้วย

 

รับกลยุทธ์การลงทุน เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การปรับกลยุทธ์การลงทุน เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจถดถอย จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นตัวช่วยที่ผ่อนหนักให้เป็นเบา ก็คือ “Portfolio Rebalancing" หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า Rebalancing 

"โดยหัวใจสำคัญของการ Rebalancing คือ การเพิ่มหรือลดสัดส่วนสินทรัพย์ในพอร์ต ให้สอดคล้องกับความเสี่ยง ณ ขณะนั้น" 

โดยมีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ คือ 

- Overweight

การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง เช่น จากเดิมเรามีสัดส่วนหุ้นต่างประเทศเพียง 10% ของพอร์ต ก็อาจเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้นเป็น 20% ของพอร์ต แล้วลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นแทน 

- Underweight

การลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่ง เช่น จากเดิมที่ลงทุนในพันธบัตรเพียง 20% ของพอร์ต ก็อาจลดสัดส่วนให้เหลือเพียง 15% ของพอร์ต แล้วไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นแทน 

นอกจากเรื่องของวิธีปรับพอร์ตแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “จังหวะในการปรับพอร์ต"

 

ซึ่งถ้าอิงจากทฤษฎีทั่วไปแล้ว ก็กล่าวได้ว่านักลงทุนสามารถ 

ปรับพอร์ต “Portfolio Rebalancing" โดยการแบ่งเป็น 3 จังหวะ

1. อิงตามช่วงเวลา เช่น ปรับพอร์ตทุก ๆ ไตรมาส หรือทุก ๆ ปี เป็นต้น

2. อิงตามสัดส่วนการลงทุน เช่น ปรับสัดส่วนการลงทุน เมื่อสินทรัพย์ในพอร์ต บวกหรือลบเกิน 20% เป็นต้น

3. อิงตามเป้าหมายการลงทุน เช่น เมื่อวางแผนที่จะเกษียณ ก็อาจปรับสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้น้อยลง แล้วเพิ่มสัดส่วนในพันธบัตร หรือตราสารหนี้มากขึ้น เป็นต้น

 

การปรับพอร์ตการลงทุนด้วยวิธี และจังหวะที่เหมาะสม มีส่วนช่วยลดความผันผวน พร้อมกับสร้างผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุนได้อย่างมั่นคงในระยะยาว ซึ่งอาจไม่ได้มีสูตรตายตัวเสมอไป เพราะรายละเอียดในการปรับพอร์ตนั้น ขึ้นอยู่กับสัดส่วน กลยุทธ์การลงทุน และเป้าหมายของนักลงทุนแต่ละคนเป็นหลักนั่นเอง 

"สรุปได้ว่า กลยุทธ์ Rebalancing เป็นอีกหนึ่งไอเดียในการลงทุน ที่นักลงทุนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เพื่อสร้างสมดุลให้กับพอร์ต ในวันที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีโอกาสจะสะเทือนอย่างมากในปีนี้ "


 


การบริหารความเสี่ยงด้วยการกระจายไปยังกองทุนรวม ที่มีนโยบายการลงทุนที่ตอบโจทย์ พร้อมกับมีระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเรา ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน ​

คำแนะนำการลงทุน

KAsset ขอแนะนำ K-GINCOME, K-PLAN2 และ K-PLAN3 ที่มีการกระจายการลงทุนไปในหลายสินทรัพย์ และยังมีผู้จัดการกองทุนที่คอยปรับสัดส่วนการลงทุน ให้ทันกับภาวะตลาด โดยที่นักลงทุนทุกท่านไม่ต้องเสียเวลาปรับพอร์ตด้วยตัวเอง​


หมายเหตุ ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน
บทความโดย คุณวจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานวางแผนกลยุทธ์ บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2566
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
เลข CPI ปรับตัวสูง กระทบพอร์ตหรือไม่? >>Click
สินทรัพย์เสี่ยงตอบรับ หลังประชุม Fed >>Click
ส่องเศรษฐกิจจีนหลังเปิดประเทศ >>Click​


Yes
3/1/2023