​​​​​​​นโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน

นโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน

(Investment Governance Code Policy - I Code Policy)


(1) ปรัชญาพื้นฐาน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (“บริษัท") สนับสนุนวัตถุประสงค์ของหลัก

ธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code : I Code) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการดูแลการลงทุนในฐานะผู้ลงทุนสถาบันตามแนวทางสากลโดยยึดถือหลักปฏิบัติ 7 ประการ

ในฐานะผู้จัดการสินทรัพย์ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า บริษัทจะปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทโดยการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ลงทุน รวมถึงการเติบโตที่ยั่งยืนผ่านแนวทางที่อธิบายไว้ในนโยบายฉบับนี้ และมุ่งเน้นที่การส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์ของลูกค้า(Fiduciary Duty) ของบริษัทเช่นกัน


(2) หลักปฏิบัติ 7 ประการเพื่อให้บรรลุหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน

หลักปฏิบัติที่ 1 : การกำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน (นโยบาย I Code) ที่ชัดเจน

คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย I Code ให้มีความชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของบริษัท เช่น ขนาด โครงสร้าง และบทบาทในกระบวนการลงทุน (Investment Chain) ให้ครอบคลุมสินทรัพย์ทุกประเภท ได้แก่ หุ้น หุ้นกู้ กองทุนรวมหน่วยลงทุน และกองทุนรวมประเภทต่างๆ รวมถึงให้มีผลกับการลงทุนในทุกภูมิภาคทั้งในและต่างประเทศ โดยกำหนดให้มีการทบทวนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ (Material Event) เพื่อให้นโยบายถูกผลักดันสู่การปฏิบัติและบรรลุตามวัตถุประสงค์

คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code : I Code) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการดูแลการลงทุนในฐานะผู้ลงทุนสถาบันตามแนวทางสากลดังนี้

  • บริษัทตระหนักถึงความรับผิดชอบหลักในการรักษาและสร้างมูลค่าเงินลงทุนตามระยะเวลา (Time Horizon) ที่สอดคล้องกับประโยชน์ของลูกค้าในระยะยาว (Long-Term Perspective) เป็นสำคัญ
  • บริษัทมีโครงสร้างการกำกับดูแลที่เป็นอิสระและไม่มีประโยชน์ขัดหรือแย้ง (Bias) กับประโยชน์ของลูกค้าตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามแนวปฏิบัติด้านจรรยาบรรณในการทำหน้าที่ดูแลการลงทุนและการรักษาประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า
  • บริษัทจะมอบหมายงานให้พนักงานที่มีความสามารถ และประสบการณ์ ที่จะทำให้สามารถดูแลและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิผลเพื่อรักษาประโยชน์ของลูกค้า
  • บริษัทจะทำการสื่อสารและการถ่ายทอดหลักปฏิบัติฯ ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการลงทุนทั้งภายในและภายนอกให้ได้รับทราบ
  • บริษัทมีการกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนเพื่อให้การบริหารจัดการลงทุนเป็นไปตามกฏหมาย ข้อตกลงกับลูกค้าด้วยความรับผิดชอบ มีจริยธรรมและจรรยาบรรณ เช่น ด้านการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น การนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) มาประกอบการพิจารณาการลงทุน เป็นต้น

หลักปฏิบัติที่ 2 การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอเพื่อประโยชน์ของลูกค้า

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ บริษัทจึงกำหนดนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และระเบียบปฏิบัติรวมถึงวิธีการจัดการหากเกิดกรณีที่ผลประโยชน์ของลูกค้ากับบริษัทหรือลูกค้าอื่นไม่เป็นไปในทางเดียวกัน เช่น บริษัทมีการกำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ และมีการเปิดเผยข้อมูลการใช้สิทธิออกเสียง เป็นต้น

หลักปฏิบัติที่ 3 การตัดสินใจและติดตามกิจการที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์ (Actively)

บริษัทมีกระบวนการตัดสินใจลงทุนที่ชัดเจนโดยครอบคลุมถึงปัจจัยที่สำคัญ อาทิเช่น โมเดลทางธุรกิจ กลยุทธ์ ผลประกอบการของกิจการที่ลงทุน พัฒนาการที่เป็นทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่อาจกระทบต่อมูลค่าและความเสี่ยงของกิจการที่ลงทุน เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังมีนโยบายในการการเข้าพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารและ/หรือกรรมการเพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางและการดำเนินนโยบายของบริษัท

บริษัทมีกระบวนการในการติดตามการดำเนินงานของกิจการที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บริษัทสามารถทราบผลการดำเนินงานของกิจการที่ลงทุนและรู้ปัญหาของกิจการที่ลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นและทันเหตุการณ์

บริษัทส่งเสริมการสร้างคุณค่ากิจการในระยะยาวเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนของกิจการที่ลงทุน โดยนำเอาปัจจัยเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) รวมเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตัดสินใจและติดตามการลงทุน

ในกรณีที่บริษัทพบว่า กิจการที่ลงทุนไม่ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือมีประเด็นที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือมีสัญญาณของปัญหาที่อาจส่งผลต่อมูลค่าการลงทุน บริษัทจะพิจารณาอย่างรอบคอบต่อคำอธิบายที่ได้รับหรือต่อการไม่มีคำอธิบายของกิจการที่ลงทุน โดยหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำอธิบายหรือการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหารวมทั้งเหตุผลที่กิจการให้ บริษัทจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมของเรื่อง เช่น แจ้งให้คณะกรรมการของกิจการที่ลงทุนทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หรือขอเข้าพบคณะกรรมการหรือฝ่ายจัดการของกิจการนั้นๆเพื่อสอบถาม เป็นต้น

หลักปฏิบัติที่ 4 การเพิ่มระดับในการติดตามกิจการที่ลงทุน เมื่อเห็นว่าการติดตามในหลักปฏิบัติที่ 3 ไม่เพียงพอ (Escalating Investee Companies)

หลังจากที่บริษัทได้ติดตามและดำเนินการตามหลักปฏิบัติที่ 3 แล้วเห็นว่าไม่เพียงพอ บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ระบุถึงเหตุการณ์และแนวทางที่จำเป็นในการเข้าไปดำเนินการกับกิจการที่ลงทุนเพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและฟื้นมูลค่าการลงทุนในกิจการที่ลงทุนนั้นได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

ในการดำเนินการเพิ่มเติม บริษัทจะพิจารณาเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการที่ใช้ตามความจำเป็น เช่น 1) มีหนังสือถึงคณะกรรมการของกิจการที่ลงทุนเพื่อแจ้งประเด็น ข้อสังเกต และข้อกังวล

2) เข้าพบประธานกรรมการหรือกรรมการอื่นรวมทั้งกรรมการอิสระเพื่อแสดงจุดยืนของบริษัท

3) เสนอประเด็นที่กังวลร่วมกับผู้ลงทุนสถาบันอื่น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการเพิ่มเติมกับกิจการที่ลงทุนทำให้บริษัทรับทราบข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ บริษัทจะมีมาตรการรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าวเพื่อป้องกันการกระทำที่อาจผิดกฎหมายและเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น​

หลักปฏิบัติที5 การเปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง

บริษัทจะใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการต่างๆ ที่กองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทลงทุน ยกเว้นกองทุนที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียงเอง โดยบริษัทกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใต้การอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการอื่นใดที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย

นโยบายและหลักเกณฑ์การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นนโยบายและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแนวทางการแสดงมติอย่างชัดเจน และออกแบบมาเพื่อมีส่วนร่วมในการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการที่ลงทุนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นระยะยาวในกรณีที่บริษัทตัดสินใจใช้สิทธิออกเสียงที่ต่างไปจากนโยบายและหลักเกณฑ์ที่กำหนด จะมีการขออนุมัติต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาการลงทุน (Investment Committee) บริษัทจะบันทึกเหตุผลเพื่อการตรวจสอบภายหลัง

นโยบายและหลักเกณฑ์การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และรายงานผลการใช้สิทธิออกเสียงจะถูกเปิดเผยบนต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์ของบริษัทหรือรายงานตรงต่อลูกค้า แล้วแต่กรณี

หลักปฏิบัติที่ 6 ความร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นและผู้มีส่วนได้เสียตามความเหมาะสม (Collective Engagement)

ในการดำเนินการกับกิจการที่ลงทุนที่มีข้อกังวลและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลังจากเพิ่มระดับในการติดตามได้ บริษัทอาจมีการร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่น (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) หรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ(Collective Engagement) หากเห็นสมควรเพื่อให้กิจการที่ลงทุนเห็นความสำคัญของประเด็นข้อกังวลของบริษัทและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

หลักปฏิบัติที่ 7 การเปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

นโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code Policy - I Code Policy) ของบริษัทจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัท รวมถึงการรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบาย​


การปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน
ร​​​ายงานการปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน ประจำปี 2565​​​​

ร​​​ายงานการปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน ประจำปี 2564

ร​​​ายงานการปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน ประจำปี 2563

รายงานการปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน ประจำปี 2562​

รายงานการปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน ประจำปี 2561​