คณะกรรมการบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท กรรมการแต่ละคนเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด และมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลกิจการของบริษัท ด้วยความเป็นอิสระและเป็นกลาง เพื่อประโยชน์ของกองทุนภายใต้การจัดการ ผู้ลงทุนที่เป็นลูกค้าของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่น
คณะกรรมการบริษัทมีบทบาทในการกำกับดูแลการบริหารงานของบริษัท เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริหารได้มุ่งมั่นสู่การมีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงสภาวะความเสี่ยง
คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่:
- ก) พิจารณาและหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์ต่างๆ ที่นำเสนอโดยฝ่ายจัดการ และอนุมัติในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับทิศทาง นโยบายของบริษัท
- ข) พิจารณาและอนุมัติแผนธุรกิจประจำปี งบประมาณ ค่าใช้จ่ายประเภททุน เป้าหมายการปฏิบัติงาน ที่นำเสนอโดยฝ่ายจัดการ
- ค) ดูแลและพิจารณาความสมดุลของวัตถุประสงค์ในระยะสั้นและระยะยาว
- ง) สรรหาและแต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการหรือผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายจัดการ และประเมินผลการปฏิบัติงานของกรรมการผู้จัดการหรือผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายจัดการ รวมทั้งดูแลให้บริษัทมีกระบวนการที่มีประสิทธิผลในการประเมินผลงานของผู้บริหารระดับสูง
- จ) ติดตามผลการดำเนินงานของบริษัท และความคืบหน้าในการบรรลุวัตถุประสงค์และการปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบาย กฎระเบียบ รวมทั้งกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ฉ) ติดตามกรอบการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งประสิทธิผลของการควบคุมภายใน
- ช) อนุมัติสิ่งที่ริเริ่มใหม่ที่สำคัญของบริษัท
- ซ) สื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท และสาธารณชน
คณะกรรมการของบริษัทให้ประกอบด้วยกรรมการไม่น้อยกว่าสาม(3)คน กรรมการของบริษัทไม่จำเป็น ต้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทก็ได้
กรรมการบริษัท ประกอบด้วย ผู้มีทักษะและประสบการณ์หลากหลายที่สามารถใช้วิจารณญาณได้อย่างเป็นอิสระ มีความเป็นผู้นำ และมีความรู้ เพื่อนำมาหารือในคณะกรรมการบริษัท ในการแต่งตั้งกรรมการบริษัท
กรรมการแต่ละคนจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท และคำชี้แจงเกี่ยวกับพันธะทางกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ในฐานะกรรมการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
กรรมการบริษัททุกคน จะได้รับคำแนะนำและการบริการจากเลขานุการคณะกรรมการบริษัทซึ่งรับผิดชอบในการดูแลการปฏิบัติตามแนวการปฏิบัติของคณะกรรมการบริษัท และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ภาระหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารมีการแบ่งแยกอย่างชัดเจน คณะกรรมการบริษัทจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในภาระหน้าที่ของผู้บริหาร หรือในการนำนโยบายของคณะกรรมการบริษัทไปใช้ในทางปฏิบัติ คณะกรรมการบริษัท มีบทบาทในการติดตามการบริหารงาน เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายและกระบวนการที่เหมาะสมได้นำมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้บรรลุถึงภาระหน้าที่ที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด
ความสัมพันธ์ระหว่างคณะกรรมการบริษัทและฝ่ายจัดการเป็นไปในรูปแบบการทำงานร่วมกัน และกรรมการผู้จัดการหรือผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายจัดการมีความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัทในด้านการดำเนินธุรกิจประจำวันของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนการดำเนินการ การตัดสินใจ และการปฏิบัติการ คณะกรรมการบริษัทเป็นผู้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแผนปฏิบัติและเสนอแนะกลยุทธ์ และติดตามดูแลการปฏิบัติการและผลการดำเนินงาน
ฝ่ายจัดการมีความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจประจำวันของบริษัท หน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทคือ การกำกับดูแลให้ฝ่ายจัดการปฏิบัติงานโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัท และของผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของบริษัท
หน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทรวมถึง:
- ก) ประชุมอย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน และอาจมีการประชุมเพิ่มเติมได้ในกรณีที่มีความจำเป็น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบ วาระการประชุมควรมีการจัดเตรียมและเห็นชอบร่วมกันในแต่ละปี ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าภาระหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการบริษัทได้ระบุไว้ในวาระการประชุม
- ข) พิจารณากลยุทธ์ของบริษัทอย่างสม่ำเสมอ
- ค) รับทราบการประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทในรายละเอียด ประเด็นสำคัญที่แต่ละหน่วยธุรกิจภายในบริษัทเผชิญอยู่ และข้อมูลอื่นที่สามารถนำมาประกอบในการปฏิบัติงานตามความรับผิดชอบ
กรรมการบริษัทจะได้รับข้อมูลล่วงหน้าที่เหมาะสมและทันเวลาในการประชุมคณะกรรมการบริษัทแต่ละครั้ง ซึ่งจะทำให้กรรมการบริษัทสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลเกี่ยวกับ การกำกับดูแลกลยุทธ์ด้านการเงิน การปฏิบัติงาน การปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และประเด็นที่เกี่ยวกับ การกำกับดูแล สำหรับข้อมูลอื่นเพิ่มเติมจะดำเนินการตามที่กรรมการร้องขอ
ผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริษัท จะได้รับการประเมินสำหรับคณะกรรมการบริษัททั้งคณะ