จรรยาบรรณคู่ค้า

วัตถุประสงค์

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (“บริษัท”)มีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสสุจริตเป็นไปตามกฎหมายหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงได้กำหนดจรรยาบรรณคู่ค้าเพื่อให้คู่ค้าใช้เป็นแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมายและจรรยาบรรณของบริษัทตลอดจนมาตรฐานสากลโดยบริษัทให้ความสำคัญและสนับสนุนให้คู่ค้าของบริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใสคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนปฏิบัติต่อแรงงานด้วยความเป็นธรรมปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมรวมถึงติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามจรรยาบรรณนี้อย่างเคร่งครัด


นิยาม

คู่ค้า หมายถึง ผู้ขายสินค้า ผู้รับจ้าง และ/หรือ ให้บริการแก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด


ขอบเขตและแนวปฏิบัติ

1. จริยธรรมทางธุรกิจ (Business Ethics)

  • ความซื่อสัตย์
    ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของความถูกต้อง ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ด้วยหลักการในการต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
  • ความเป็นธรรม
    ปฏิบัติตามกรอบกติกาการแข่งขันที่ดี และไม่ใช้วิธีการที่ไม่สุจริตเพื่อทำลายคู่แข่งทางการค้า หรือสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม
  • การรักษาความลับ
    ไม่เปิดเผยหรือนำข้อมูลความลับของบริษัท ลูกค้า และคู่ค้า ไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยไม่ได้รับความยินยอม เว้นแต่เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด
  • สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
    เคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทและผู้อื่น และระมัดระวังไม่ให้มีการละเมิดสิทธิดังกล่าว
  • ความรับผิดชอบต่อสังคม
    ยึดมั่นประพฤติปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคมในการใช้ทรัพยากร และมุ่งสร้างความเจริญให้สังคมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

2. สิทธิมนุษยชนและแรงงาน (Human Rights and Labor)

  • การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
    เคารพในเกียรติ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิส่วนบุคคลของลูกจ้าง โดยไม่เลือกปฏิบัติหรือกีดกันแรงงาน อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ อายุ สัญชาติ สิทธิความเป็นพลเมือง ความนิยมทางเพศ ความพิการ หรือเรื่องอื่นใด
  • การไม่บังคับใช้แรงงาน
    ไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการบังคับใช้แรงงาน รวมถึงการล่วงละเมิดหรือข่มขู่คุกคามแรงงานในทุกรูปแบบ
  • การคุ้มครองแรงงาน
    • การจ้างแรงงานเด็ก การใช้แรงงานสตรีมีครรภ์ และการจ้างแรงงานต่างด้าว ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
    • การเลิกจ้างต้องดำเนินการในแต่ละขั้นตอนตามกฎหมายแรงงานและต้องไม่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
  • ระยะเวลาทำงาน
    ไม่ให้ลูกจ้างทำงานเป็นเวลานานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด กรณีมีการทำงานล่วงเวลาต้องเป็นไปตามความสมัครใจของลูกจ้าง รวมทั้งจัดให้มีวันหยุดและวันลาไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด
  • การจ่ายค่าจ้างและผลประโยชน์
    จ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และผลประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับอย่างถูกต้อง เป็นธรรม ไม่ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และตรงตามกำหนดเวลา

3. ความปลอดภัย และอาชีวอนามัย (Safety and Occupational Health)

จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้มีความปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ และเอื้อต่อการทำงานอย่างมีประสิทธิผล สอดคล้องตามกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดให้มีการควบคุมขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน


4. สิ่งแวดล้อม (Environment)

  • ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับและมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
  • ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล