1. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทยจำกัดและหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ
(KAsset and Responsible Investment)
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (“บลจ.กสิกรไทย") ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน ซึ่งรับผิดชอบการบริหารจัดการเงินลงทุนในนามของลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของเงินลงทุน มีแนวทางการลงทุนในบริษัทที่สามารถสร้างมูลค่าทั้งทางด้านการเงินและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนแก่ผู้ลงทุน บริษัทจัดการมีการนำเอาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) รวมทั้งหลักจริยธรรม มาประกอบการพิจารณาวิเคราะห์ในกระบวนการตัดสินใจลงทุนและการสร้างพอร์ตการลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภทภายใต้การบริหาร บลจ.กสิกรไทย ตระหนักดีว่าความเชื่อถือและไว้วางใจของลูกค้าและสาธารณชนที่มีต่อบริษัทเป็นองค์ประกอบสำคัญของความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิชาชีพด้านการจัดการลงทุน เราเชื่อมั่นว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืน และบรรลุเป้าหมายคือการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า บนหลักการที่ผลประโยชน์ของลูกค้ามีความสำคัญเป็นอันดับแรก
2.
การกำกับดูแล (Oversight)
คณะกรรมการบริษัทของ บลจ.กสิกรไทย ได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Development Committee) กำหนดแนวทางการจัดการ กำกับดูแล ทบทวนนโยบายและอนุมัติรายงานการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนที่เปิดเผยเผยแก่สาธารณะและหน่วยงานภายนอก รวมถึงติดตามการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ต่อการดำเนินธุรกิจและการบริหารพอร์ตการลงทุนภายใต้การบริหารของ บลจ.กสิกรไทย ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำแนวปฏิบัติด้าน ESG มาปรับใช้ในทุกฝ่ายงานภายใน บลจ.กสิกรไทยอย่างมีประสิทธิผล โดยทางคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนจะมีการรายงานสรุปการดำเนินงานด้าน ESG ตลอดจนความคืบหน้าของพัฒนาการเทียบกับเป้าหมายในการดำเนินงานต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
3. ขอบเขตการพิจารณามิติด้าน
ESG
และการให้ความสำคัญของแต่ละประเด็น ตลอดจนผลลัพธ์ด้านความยั่งยืน
(ESG Considerations, Priorities, and Sustainability Outcome)
ด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)
บลจ.กสิกรไทยมุ่งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง บริษัทจัดการมีการประเมินกิจการที่ลงทุนโดยมีการคำนึงถึงความสามารถในการควบคุมและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยประเด็นหลักที่ทางบริษัทจัดการให้ความสำคัญมีดังต่อไปนี้
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศ
- การประหยัดพลังงาน
- มลภาวะ
- การจัดการขยะและของเสีย
- ความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้านสังคม (Social)
บลจ.กสิกรไทยมุ่งให้ความสำคัญด้านการจัดการทุนมนุษย์ของกิจการต่างๆ ที่ลงทุนรวมถึงการตั้งเป้าหมายทางสังคมตลอดจนการวัดผลกระทบด้านสังคม โดยประเด็นหลักในการพิจารณา อาทิเช่น
- สิทธิมนุษยชน: ทางบริษัทจัดการมีความคาดหวังต่อการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจในด้านสิทธิมนุษยชนของกิจการที่ลงทุนที่สอดคล้องไปตามหลักสากล นอกเหนือไปจากกฏหมายและข้อปฏิบัติของประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่ อาทิเช่น ตามกรอบของหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) หรือ ปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labor Organization Declaration of Fundamental Principles and Rights at Work: ILO) อาทิเช่น การใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ การเลือกปฏิบัติด้านการจ้างงานและอาชีพ ความหลากหลาย ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วม สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน เป็นต้น
- การดำเนินธุรกิจที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติส่งผลกระทบจากการดำเนินงานละเมิดสิทธิชุมชน
- คุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ รวมถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค
การกำกับดูแลกิจการ
(Governance)
แนวทางการกำกับดูแลกิจการและการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของ บลจ. กสิกรไทย อยู่บนพื้นฐานของหลักการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีดังต่อไปนี้
- ความยึดมั่นในคุณธรรม (Integrity)
- ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ (Transparency)
- ความเป็นอิสระ (Independence)
- ความรับผิดชอบ (Responsibility)
- ภาระความรับผิดชอบ (Accountability)
- ความยุติธรรม (Fairness)
บลจ.กสิกรไทย มีการกำหนดนโยบายภายในสำหรับการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติและการดำเนินการที่เหมาะสมหากมีประเด็นที่กังวล รวมทั้งสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยประเด็นด้านการกำกับดูแลกิจการมีการพิจารณาอย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นและการมีส่วนร่วมในฐานะผู้ถือหุ้น (Engagement) โดยทาง บลจ. กสิกรไทยจะมีการสื่อสารกับกิจการที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอตัวอย่างเช่น ในการประชุมผู้ถือหุ้น หากทางบริษัทจัดการมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้สิทธิออกเสียง “คัดค้าน" ทางบริษัทจัดการจะติดต่อกับบริษัทที่ลงทุนนั้นๆ ก่อนที่จะมีการใช้สิทธิออกเสียงเพื่อหารือถึงประเด็นที่กังวลและอธิบายเหตุผลในการออกเสียงที่ขัดแย้งกับข้อแนะนำของฝ่ายบริหาร การปฏิบัติดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ทางบริษัทจัดการได้สื่อสารและชี้แจงข้อกังวลต่อบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ หลังจากการประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจัดการจะจัดให้มีกระบวนการติดตามผล หรือการดำเนินการที่เหมาะสมต่อบริษัทดังกล่าวหากจำเป็น นอกจากนี้ บลจ.กสิกรไทยยังให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ การต่อต้านการให้หรือรับสินบน และการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ
ผลลัพธ์ด้านความยั่งยืน
(Sustainability Outcome)
บริษัทจัดการเชื่อว่าการนำเอาปัจจัยด้าน ESG มาพิจารณาประกอบการลงทุนจะสามารถช่วยสร้างผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนในเชิงบวก (Positive outcome) และลดผลกระทบในเชิงลบ (Negative outcome) ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทำให้สามารถเชื่อมโยงสู่เป้าหมายตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยการให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ทำให้สามารถเข้าใจความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นรวมถึงโอกาสในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทางบริษัทจัดการสนับสนุนกิจการที่ลงทุนในการดำเนินการเพื่อไปสู่ SDGs ขององค์การสหประชาติทั้ง 17 เป้าหมาย
4. สรุปแนวทางการนำปัจจัยด้าน
ESG
มาปรับใช้ในกระบวนลงทุน (ESG Integration)
แบ่งตามประเภทของสินทรัพย์
การนำปัจจัยด้าน
ESG
มาปรับใช้ในกระบวนการลงทุน (ESG Integration Process)
บลจ.กสิกรไทยมีการนำปัจจัยด้าน ESG มาใช้พิจารณาร่วมด้วยในกระบวนการลงทุน ตั้งแต่การวิเคราะห์หลักทรัพย์ การคัดเลือกหลักทรัพย์ ไปจนถึงการสร้างพอร์ตโฟลิโอ โดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวกับ ESG (ESG Data) จากแหล่งข้อมูลต่างๆ เช่น การเข้าเยี่ยมชมบริษัทและการพบผู้บริหาร แบบสอบถาม รายงานต่างๆ ที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ อาทิ รายงาน 56-1 One Report รายงานที่เกี่ยวกับความยั่งยืน รายงานการกำกับดูแลกิจการ รายงานประจำปี ข้อมูลที่เปิดเผยพร้อมงบการเงินรายไตรมาส วาระการประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงมีการสมัครรับข้อมูลและการวิเคราะห์วิจัยด้าน ESG ที่มีการรวบรวมโดยผู้ให้บริการข้อมูลภายนอก (External Data Service Providers) เช่น S&P Global Market Intelligence, LSEG Workspace, Bloomberg, Institutional Shareholder Services (ISS) เป็นต้น
บลจ.กสิกรไทย มีการปรับปรุงกรอบวิธีพิจารณาให้คะแนนและจัดอันดับการประเมินด้าน ESG ของกิจการที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถสะท้อนพัฒนาการด้านการเปิดเผยข้อมูล ESG ของกิจการที่ลงทุน และแนวโน้มผลกระทบของแต่ละ ปัจจัย ESG โดยมีการให้คะแนนและการจัดอันดับ ESG สำหรับทุกกิจการที่กองทุนภายใต้การจัดการสามารถลงทุนได้ (Investment Universe) ทั้งจากแบบการการประเมินภายในและการใช้ข้อมูลและคะแนนประเมินด้าน ESG ของผู้ให้บริการข้อมูลภายนอกที่น่าเชื่อถือ โดยมีการประเมินครอบคลุมในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, การปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิทธิมนุษยชน ผลกระทบต่อสังคม การกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นต้น และมีการให้น้ำหนักแต่ละปัจจัย ESG ที่แตกต่างกันตามความสำคัญเนื่องจากผลกระทบจากแต่ละปัจจัยมีไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (Materiality Assessment) ทั้งนี้ บริษัทจัดการมีการจัดทำการประเมินคะแนนและจัดอันดับปัจจัย ESG สำหรับกิจการที่ลงทุนอย่างน้อยปีละครั้ง และมีการปรับปรุงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญของแต่ละประเด็นด้าน ESG ในกิจการที่ลงทุน
ผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์มีการนำผลคะแนนและการจัดอันดับในด้าน ESG ของกิจการที่สามารถลงทุนได้ มาใช้พิจารณาร่วมในกระบวนการตัดสินใจลงทุน โดยสะท้อนในขั้นตอนการกำหนดสมมติฐานในการคัดเลือกหลักทรัพย์ จัดทำประมาณการกำไร การประเมินมูลค่ากิจการ และการสร้างพอร์ตการลงทุนตามความเหมาะสม ในกรณีที่เกิดประเด็นด้าน ESG ที่อาจกระทบต่อการดำเนินงาน หรือมูลค่าของกิจการที่ลงทุน ผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์จะนัดหมายผู้บริหารเพื่อมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และจุดยืนต่อประเด็น ESG นั้นๆ (Engagement) เพื่อประเมินท่าทีของกิจการและแนวโน้มผล กระทบด้าน ESG ต่อมูลค่ากิจการในอนาคต เพื่อใช้ประกอบในกระบวนการตัดสินใจลงทุน
ก) กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกในตราสารทุน
(Active
Equity Strategy)
ปัจจัยด้าน ESG มีการประเมินในระดับบริษัทหรือผู้ออกหลักทรัพย์ด้วยวิธีการประเมินคะแนนและการจัดอันดับด้าน ESG จากโมเดลการประเมินภายใน และจากผู้ให้บริการข้อมูลและวิจัยภายนอกที่น่าเชื่อถือ และนำมาใช้พิจารณาประกอบในทุกกลยุทธ์การลงทุน โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุนไปจนถึงการสร้างพอร์ตการลงทุน โดยปัจจัยที่ใช้ในการประเมินขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของแต่ละกิจการและอุตสาหกรรมของกิจการนั้นๆ ที่อาจส่งผลกระทบด้านชื่อเสียง การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และ/หรือฐานะการเงินต่อกิจการ ซึ่งทำให้มูลค่าของผู้ถือหุ้นถดถอยลง นอกจากนี้ บลจ. กสิกรไทยเชื่อว่าการวิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสของธุรกิจโดยใช้ปัจจัยด้าน ESG ประกอบกับการใช้สิทธิที่เหมาะสมของผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น (Active Ownership) จะช่วยให้สามารถสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างยั่งยืนได้ในระยะยาว
ข) กลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนเชิงรับ (Passive Equity Strategy) สำหรับการลงทุนโดยตรง
การนำปัจจัยด้าน ESG มาพิจารณาร่วมในกระบวนการลงทุน สำหรับการลงทุนโดยตรงในกลยุทธการลงทุนในตราสารทุนเชิงรับ ขึ้นกับกรอบนโยบายและวัตถุประสงค์การลงทุนที่ได้ระบุไว้สำหรับแต่ละกองทุน อย่างไรก็ตามบริษัทจัดการไม่มีนโยบายงดเว้นการลงทุนในหุ้นบางกลุ่มอุตสาหกรรมหรือบางหลักทรัพย์ที่มีประเด็นด้าน ESG (Exclusionary Policy) ในกลยุทธ์นี้ เนื่องจากเป้าหมายการลงทุนคือทำให้ผลตอบแทนมีค่าเบี่ยงเบนจากดัชนีชี้วัดน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์ด้าน ESG เกิดขึ้น ในกรณีที่กลยุทธ์นี้มีการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ บริษัทจัดการจะมีแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีการลงทุนในกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุกในตราสารทุน (Active Equity Strategy) กล่าวคือการนำมาหารือในคณะทำงานพิจารณาตราสารทุน และนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการลงทุน และคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนตามลำดับตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี โดยบริษัทจัดการจะใช้สิทธิที่เหมาะสมของผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น (Active Ownership) ผ่านการทำ Engagement กับบริษัท และใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น และสำหรับบางกิจการที่ไม่อยู่ในรายชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ บริษัทจัดการจะกระทำการในฐานะผู้ถือหุ้น (Active Ownership) ผ่านการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นสำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารทุนเชิงรับ
ค) ตราสารหนี้ในและต่างประเทศ (Domestic/ForeignFixed Income)
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ ปัจจัย ESG ถือเป็นส่วนหนึ่งใช้ประกอบกระบวนการตัดสินใจลงทุนและกระบวนการ สร้างพอร์ตลงทุน โดยกระบวนการพิจารณานั้นมีการพิจารณาทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ
ตราสารหนี้ภาครัฐ
ปัจจัยด้าน ESG ถูกประเมินในระดับประเทศ (Sovereign) โดยมีการพิจารณาประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเมือง ประสิทธิภาพของรัฐบาลและการกำกับดูแล การทุจริตคอร์รัปชั่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนความเสี่ยงที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น ปัจจัยเหล่านี้ถูกจัดอันดับโดยองค์กรระหว่างประเทศที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations) และเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยปัจจัยต่างๆ เหล่านี้รวมถึงข้อมูลการจัดอันดับจะถูกรวบรวมโดยผู้ให้บริการข้อมูลด้าน ESG ภายนอกที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ทางบริษัทจัดการจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบความเสี่ยงด้าน ESG ในแต่ละประเทศโดยนำข้อมูลมาเปรียบเทียบตามกลุ่มคะแนน และอาจเทียบกับแนวโน้มในอดีตของแต่ละประเทศด้วย
ตราสารหนี้ภาคเอกชน ตราสารหนี้ที่ไม่ใช่ตราสารหนี้ภาครัฐ และเงินฝากในสถาบันการเงิน
บริษัทจัดการจะมีการรวมการประเมินด้าน ESG เข้ากับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณของผู้ออกตราสารแต่ละราย มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อระบุปัจจัยความเสี่ยงสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อความยั่งยืนของผู้ออกตราสาร โดยจะนำข้อมูล ESG จากผู้ให้บริการข้อมูลภายนอกที่เชื่อถือได้ ร่วมกับการดำเนินการประเมินตามแบบฟอร์มการประเมิน ESG ภายในของบริษัทจัดการ โดยใช้ข้อมูลที่เปิดเผยโดยผู้ออกตราสาร รวมถึงการเข้าสัมภาษณ์ผู้บริหาร ทั้งนี้ การประเมินปัจจัยด้าน ESG เป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์เครดิตภายในของบริษัทจัดการ โดยใช้ผลการประเมินและจัดอันดับด้าน ESG จะถูกนำมาพิจารณาประกอบกับการประเมินด้านปัจจัยพื้นฐานของผู้ออกตราสารแต่ละรายเพื่อใช้ในการกำหนดอายุและวงเงินลงทุน
ง) กลยุทธ์การลงทุนในผ่านกองทุนรวมดัชนี
(Indirect Investment through ETFs)
สำหรับการประเมินปัจจัยด้าน ESG ในกองทุนรวมดัชนี บริษัทจัดการจะทำการประเมินปีละครั้งที่ระดับของผู้จัดการกองทุนภายนอก (Master Fund Manager for ETFs) โดยใช้แบบสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น นอกจากนี้ บริษัทจัดการยังมีการประเมินและติดตามการเปลี่ยนแปลงของคะแนนรวมด้าน ESG ของแต่ละกองทุน ETF และคะแนนในกลุ่มย่อยในประเด็นแต่ละด้านปัจจัย ESG ซึ่งรวบรวมมาจากบริษัทจัดอันดับด้าน ESG ภายนอก อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
จ) กองทุนรวมฟีดเดอร์ (Feeder Funds)
การประเมินด้าน ESG จะมีการพิจารณาที่ระดับผู้จัดการกองทุนเมื่อมีการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนภายนอก (Master Fund Manager) กระบวนการประเมินจะดำเนินการปีละหนึ่งครั้งโดยฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน โดยใช้แบบสอบถามเพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นจากผู้จัดการกองทุนภายนอก โดยแบบสอบถามดังกล่าวจะครอบคลุมตั้งแต่ข้อมูลเฉพาะของบริษัทจัดการกองทุนภายนอกนั้นๆ จนถึงกลยุทธ์ของแต่ละกองทุน ซึ่งจะมีการพิจารณาในเชิงลึกถึงมิติด้าน ESG ของแต่ละกลยุทธ์ โดยข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้บริษัทจัดการสามารถประเมินได้ว่ากลยุทธ์ดังกล่าวมีกระบวนการด้านการลงทุนด้าน ESG ที่เหมาะสมหรือไม่ และกระบวนการเหล่านี้มีการปรับปรุงและพัฒนาการอย่างไร
ฉ) กองทุนอสังหาริมทรัพย์
(Property Fund)/โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund)
ที่ บลจ. กสิกรไทยเป็นผู้จัดการกองทุน
(Fund Manager)
หรือ ทรัสตี
(Trustee) ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
ปัจจัยด้าน ESG ได้ถูกนำมาพิจารณาตั้งแต่ในกระบวนการการคัดเลือกและการทำ Due diligence ในการพิจารณารับทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนและทรัสตี โดย ESG เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินโดยรวม เช่น การตรวจสอบด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน
แนวทางการดำเนินงานด้าน ESG มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะ/ประเภทของโครงการ เช่น การปรับปรุงอาคาร การก่อสร้าง การคัดเลือกผู้จัดการโครงการและผู้เช่า โดยประเด็นในด้านพิจารณาด้าน ESG อาทิเช่น การบำรุงรักษาอาคารเพื่อให้อยู่ในสภาพดี การจัดการน้ำเสียและขยะ ความสัมพันธ์กับชุมชนและการพัฒนาชุมชน กระบวนการจัดการพนักงาน และการขอรับใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด ในการดำเนินการดังกล่าว ผู้จัดการกองทุนและทรัสตีจะให้การสนับสนุนต่อผู้จัดการโครงการและผู้จัดการกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) โดยทำการวิเคราะห์ด้าน ESG ตลอดระยะเวลาการจัดการของกองทุนอสังหาริมทรัพย์และ REIT ดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้จัดการโครงการภายใต้กองทุนอสังหาริมทรัพย์และผู้จัดการ REIT จะได้รับการคัดเลือกโดยการพิจารณานโยบายด้าน ESG ของกิจการนั้นๆ ประกอบด้วย ตัวอย่างเช่น การรณรงค์เพื่อการประหยัดพลังงาน การจัดการน้ำเสีย กิจกรรมกับผู้ใช้อาคาร ประวัติการดำเนินงานย้อนหลัง และนโยบายด้านการจัดซื้อ เป็นต้น โดยผู้จัดการกองทุนและทรัสตีมุ่งสนับสนุนให้มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายด้าน ESG รวมถึงการเปิดเผยข้อมูล
5.
แนวทางเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Approach)
บลจ.กสิกรไทยตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านอย่างยั่งยืนไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั่วโลก เนื่องจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอาจส่งผลลบต่อการลงทุน บริษัทจัดการจะจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพยายามจัดการความเสี่ยงที่มีนัยสําคัญต่อการลงทุนและธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในประเด็นที่บริษัทจัดการให้ความสำคัญในการทำ Engagement กับบริษัทที่ลงทุน
เนื่องจากความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งสําคัญในการระบุผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผลการดําเนินงานของกิจการที่ลงทุนต่างๆ บลจ.กสิกรไทยจึงได้ลงนามเข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนกรอบการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures) และมีการปรับแนวปฏิบัติของทางบริษัทจัดการให้สอดคล้องและมีทิศทางเดียวกับแนวทางดังกล่าวด้วย
การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อบริษัทที่ลงทุนจะมีการนำมาพิจารณาร่วมในกระบวนการลงทุนและการสร้างพอร์ตลงทุน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้าน ESG โดยคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน มีหน้าที่รายงานสรุปผลการดำเนินการโดยภาพรวมต่อคณะกรรมการบริษัท
6.
แนวทางการยกเว้นการลงทุน(Exclusionary Policy)-
สําหรับการลงทุนโดยตรงเท่านั้น
ก. บริษัทที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมตามมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการดําเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบและฝ่ายบริหารไม่สามารถหาวิธีแก้ไขหรือจัดการปัญหาในเชิงรุก หรือ ดําเนินการปฏิรูปที่จําเป็นจะถูกติดตามอย่างใกล้ชิดและอาจถูกคัดออกจากรายชื่อหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ (Investment Universe) ของบลจ.กสิกรไทย
ข. บริษัทที่เกี่ยวข้อง/ผลิต/จัดจําหน่ายหรือจําหน่ายสินค้าในประเภทผลิตภัณฑ์ต่อไปนี้จะไม่ถูกพิจารณาให้อยู่ใน Investment universe
- อาวุธประเภท Controversial weapons เช่น อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ อาวุธนิวเคลียร์
- ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-personnel landmines)
- ระเบิดลูกปราย และ อาวุธยุทโธปกรณ์ (Cluster bombs or munitions)
- อาวุธปืน (Firearms)
- การทําสัญญาทางทหาร (Military contracting)
- ความบันเทิงสําหรับผู้ใหญ่ (Adult entertainment)
ค. บริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือกิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อาทิ เหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าถ่านหิน แหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล จะถูกจัดให้มีการติดตามพัฒนาการรวมถึงกลยุทธ์ของบริษัทเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำหรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
7.
การใช้สิทธิที่เหมาะสมของผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น (Active Ownership Activities)
ก) แนวทางการมีส่วนร่วม (Engagement Approaches)
บลจ. กสิกรไทยเชื่อว่าการมีส่วนรวมและการสื่อสารกับกิจการที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับกลยุทธ์และทิศทางธุรกิจของบริษัทที่ลงทุน โดยคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะในเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยปรับปรุงผลการดำเนินงานของกิจการได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น
ในกรณีประเด็นที่กังวลอาจส่งกระทบในทางลบต่อกิจการที่ร้ายแรง บริษัทจัดการอาจเพิ่มระดับในการติดตามโดยนำเสนอประเด็นข้อกังวลไปยังคณะกรรมการบริษัทของกิจการที่ลงทุน
โดยส่วนใหญ่บริษัทจัดการเลือกที่จะสื่อสารกับกิจการที่ลงทุนเป็นการส่วนตัว (Private Discussion) เนื่องจากบริษัทจัดการมีความเชื่อมั่นในการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บริหารในกิจการที่ลงทุนและเพื่อเป็นการป้องกันการเข้าใจผิดและผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นจากการสื่อสารต่อสาธารณะในวงกว้าง สำหรับการดำเนินการกับกิจการที่ลงทุนที่มีข้อกังวลและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้หลังจากเพิ่มระดับในการติดตาม ทางบริษัทจัดการอาจมีการร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่น (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) หรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ (Collective Engagement) ตามความเหมาะสมเพื่อให้กิจการที่ลงทุนเห็นความสำคัญของประเด็นข้อกังวลของบริษัทจัดการและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
บริษัทจัดการได้ให้ความร่วมมือกับนักลงทุนสถาบันในประเทศรายอื่นผ่านทางองค์กรที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม เช่น สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (“AIMC") สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (“TLCA") สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (“IOD") รวมถึงองค์กรกำกับดูแล เช่น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“SET") สำนักงานคณะกรรมการ กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“SEC") และธนาคารแห่งประเทศไทย (“BOT") ทั้งนี้บริษัทจัดการยังได้มีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ (Public hearing) และ/หรือให้ข้อเสนอแนะในเรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลหรือประกาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ อนึ่งทางบริษัทจัดการยังส่งตัวแทนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ESG Collective Action ที่มีการจัดตั้งขึ้นในนามของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และร่วมลงนามการใช้หลักเกณฑ์ Negative List ของกลุ่ม นักลงทุนสถาบัน กับนักลงทุนสถาบันรายอื่นในนามสมาคมจัดการลงทุน
การเพิ่มระดับในการติดตามในกิจการที่ลงทุน (Escalation)
หากประเด็นข้อกังวลยังไม่ได้รับการแก้ไขจนเป็นที่น่าพอใจ หลังจากเข้าทำ Engagement อย่างเต็มความสามารถแล้ว ทางบริษัทจัดการอาจเพิ่มระดับในการติดตามตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้
- ส่งหนังสือถึงคณะกรรมการบริษัท
- พิจารณาร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นตามความเหมาะสม
- งดการให้ความสนับสนุนแก่กรรมการ
- คัดค้านข้อเสนอของฝ่ายจัดการ
- สนับสนุนข้อเสนอของผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี
- เผยแพร่ข้อกังวลต่อสาธารณะ
- เสนอรายชื่อกรรมการใหม่ต่อคณะกรรมการบริษัท
- เลือกที่จะไม่ลงทุนหรือยกเลิกการลงทุนในบริษัทนั้นๆ
การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการมีส่วนร่วม (Engagement Topics)
ประเด็นในการเข้าทำ Engagement อาจแตกต่างกันตามสถานการณ์/เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจากนัยสำคัญของประเด็นที่มีผลกระทบต่อความยั่งยืนของธุรกิจที่แต่ละบริ ษัทดำเนินการ อย่างไรก็ตาม บริษัทจัดการได้จัดลำดับการให้ความสำคัญของประเด็นหลักด้าน ESG ในการเข้าทำ Engagement ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นพื้นฐาน (Common issue and significant) และอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อผลการดำเนินงานของกิจการที่ลงทุนส่วนใหญ่ ดังนี้
1)การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความยั่งยืนทางธรรมชาติ (Climate change and natural sustainability)
2) ทุนมนุษย์ (Human Capital)
3) กลยุทธ์ของบริษัท จุดมุ่งหมาย และการปรับตัวในการดำเนินงานเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลง (Company strategy, purpose and resilience)
4) คุณภาพของคณะกรรมการบริษัท (Board quality)
แนวทางการมีส่วนร่วมและการแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ของกิจการที่ลงทุนและบริษัทจัดการกับหน่วยงานภาครัฐ
ทางบริษัทจัดการเชื่อว่าการมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน การมีส่วนร่วมหารือและการแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ของกิจการที่ลงทุนและบริษัทจัดการเองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในทุกมิติ บริษัทจัดการสนับสนุนการในการให้ความเห็นและการมีส่วนร่วมหารือกับภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ รวมถึงองค์กรที่เกี่ยวข้องในการกำหนดร่าง กฎหมายหรือนโยบายสาธารณะ โดยยึดหลักความโปร่งใสและผลประโยชน์ส่วนรวม โดยกิจกรรมเหล่านี้ควรส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่มีประสิทธิผล ซึ่งมีส่วนร่วมในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและส่งเสริมผลลัพธ์ที่ดีในด้านความยั่งยืนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว
แนวทางการมีส่วนร่วมกับกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ
(Engagement Approach with Other Key Stakeholders)
บริษัทจัดการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะกับทางหน่วยงานกำกับดูแล และกิจการที่ลงทุน การมีส่วนร่วม (Engagement) ครอบคลุมไปถึงการหารือหรือสื่อสารกับ ผู้จัดการลงทุนภายนอก ผู้ให้บริการภายนอก กลุ่มนักวิชาการ สื่อมวลชน หรือ องค์กรต่างๆ ที่สามารถให้ความคิดเห็นได้ในประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งนี้ต้องอยู่บนหลักการบนความเหมาะสม โปร่งใสและผลประโยชน์ส่วนรวมและความยั่งยืนในระยะยาวเป็นสำคัญ
ข) การใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น (Proxy Voting)
บลจ. กสิกรไทยมีความเชื่อมั่นว่าการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นส่วนสำคัญของการจัดการด้านการลงทุน ทางบริษัทจัดการได้กำหนดนโยบายภายในสำหรับการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น โดยหลักเกณฑ์ยังได้มีการพิจารณาถึงมุ่งเน้นที่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจในประเด็นที่ครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวกับ ESG ทั้งนี้ บลจ.กสิกรไทยได้มีการทบทวนนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อให้การใช้สิทธิออกเสียงเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีประสิทธิผล และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ บลจ.กสิกรไทยยังได้สมัครใช้บริการงานวิจัยสำหรับคำแนะนำในการออกเสียงประชุมผู้ถือหุ้น (Proxy Research Service) จากหน่วยงานภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบและอ้างอิงกับแนวทางในการปฏิบัติที่เป็นสากล อย่างไรก็ดี บริษัทจัดการสงวนสิทธิในการใช้วิจารณญาณของตนเองในการใช้สิทธิออกเสียงแทนผู้ถือหน่วยและลูกค้า
ค) โครงการให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Lending Program)
เนื่องจากบางกองทุนของบลจ.กสิกรไทยอาจเข้าร่วมในโครงการให้ยืมหลักทรัพย์ บริษัทจัดการจึงได้จัดทำหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้
- บลจ.กสิกรไทยจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่ไม่อนุญาตให้ยืม และปรับปรุงรายชื่อเป็นรายวัน โดยคำนึงถึงการใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นที่จะเกิดขึ้นของหลักทรัพย์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ
- กรณีหลักทรัพย์ที่อยู่ในระหว่างการให้ยืม มีกำหนดการประชุมผู้ถือหุ้น ทางบริษัทจัดการมีนโยบายที่จะแจ้งให้ผู้ให้ยืมเรียกหลักทรัพย์คืนเพื่อมาใช้สิทธิ (Recall) ทุกครั้งอย่างเต็มความสามารถ เมื่อพิจารณาตามสถานการณ์นั้นๆ
8. การบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ
(Conflicts of interest related to Responsible Investment)
บลจ.กสิกรไทยตระหนักถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่ผู้ลงทุนที่มีความรับผิดชอบ เช่น การใช้สิทธิออกเสียงในวาระเลือกตั้งกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารที่เป็นลูกค้าของบริษัทจัดการในการประชุมผู้ถือหุ้นในกิจการที่ลงทุน หรือการเข้าทำ engagement กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและกำหนดร่างนโยบายสาธารณะ เป็นต้น โดย บลจ.กสิกรไทยได้มีการจัดทำแนวทางการปฏิบัติงานที่สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ อาทิเช่น การจัดทำนโยบายและหลักเกณฑ์การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหลักทรัพย์ ที่มีหลักการชัดเจนและโปร่งใสมาประกอบการพิจารณาวาระในการประชุมผู้ถือหุ้น การเปิดเผยข้อมูลการใช้สิทธิออกเสียง ตลอดจนนโยบายการป้องกันการหาผลประโยชน์ในหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงแนวทางการทำแนวทางการมีส่วนร่วมและการแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ ของกิจการที่ลงทุนและบริษัทจัดการกับหน่วยงานภาครัฐ