3/16/2023

ตลาดผันผวนลดลง หลังสหรัฐฯเข้าคุ้มครองเงินฝาก ลูกค้าธนาคาร SVB 

​​
HIGHLIGHTS :
• ตัวเลข CPI เดือน ก.พ. ออกมาชะลอตัวตามคาดและช่วยหนุนคาดการณ์ว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 21-22 มี.ค.
• มาตรการที่ผู้กำกับนโยบายของสหรัฐฯ ออกมาอย่างทันท่วงที จะช่วยคลายความกังวลแก่นักลงทุนในด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯได้ 
• ทั้งนี้ ปัญหาการปิดกิจการของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ ยังอาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงในภาวะดอกเบี้ยสูง
• แนะจับตาดัชนีราคาผู้ผลิต และ Retails Sales ที่จะประกาศก่อนประชุม Fed สัปดาห์หน้า คาดจะชะลอลง และทำให้ตลาดคลายความกังวลเรื่องมุมมองจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ย Fed ในรอบวัฎจักรนี้
• ชี้ผลกระทบทางตรงกรณี SVB มีค่อนข้างจำกัดต่อตลาดหุ้นไทย ยังคงคำแนะนำให้ทยอยเข้าลงทุนได้ เชื่อในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดจะกลับมาเป็นทิศทางขาขึ้น จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว
บลจ.กสิกรไทย อัพเดทมุมมองเพิ่มเติม หลังผู้กำกับนโยบายของสหรัฐฯออกมาตรการช่วยเหลือ หลังทางการสั่งปิดธนาคาร Silicon Valley Bank (SVB) นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (CPI) เดือน ก.พ. ที่ออกมาชะลอตัวตามคาด เป็นปัจจัยหนุนการคาดการณ์ที่ว่า Fed จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 

โดยตลาดคาดว่า Fed จะปรับขึ้น 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า และช่วยให้ตลาดคลายความกังวล สะท้อนจากตลาดหุ้นสหรัฐฯและยุโรปที่ปรับตัวบวกเมื่อวาน (14 มี.ค.) และตลาดหุ้นเอเชียต่างปรับขึ้นในวันนี้ รวมถึงตลาดหุ้นไทย (15 มี.ค. ณ 13.00 น.) 

มุมมองต่อการปิดสถาบันการเงินของทางการสหรัฐฯ

ปัจจุบัน การที่ผู้กำกับนโยบายของสหรัฐฯ ออกมาตรการจำกัดผลกระทบด้านสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ฝากเงินที่จะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน รวมถึงเสริมสภาพคล่องให้แก่ธนาคารพาณิชย์ให้สามารถเข้าถึงเงินกู้จาก Fed ได้โดยไม่ต้องถูกบังคับขายทรัพย์สินคุณภาพดีในราคาตลาดที่ต่ำ น่าจะส่งผลคลายความกังวลแก่นักลงทุนในด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้ และไม่ลุกลามไปเป็นปัญหาสภาพคล่องแก่ภาคธนาคารของสหรัฐฯโดยรวม 

นอกจากนี้ การที่ธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯขนาดใหญ่มีความแข็งแกร่งกว่าช่วงวิกฤต 2008 และ Fed เองมีสภาพคล่องส่วนเกินในระดับสูง มีเครื่องมือมาตรการอื่นๆนอกจากเครื่องมือดอกเบี้ยที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับมือสถานการณ์ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจและการจ้างงานของสหรัฐฯยังแข็งแกร่งอยู่มาก จึงทำให้คาดว่าตลาดสินทรัพย์น่าจะค่อยๆลดความผันผวนลงได้ในช่วงถัดไป


ปัญหาการปิดกิจการของธนาคารขนาดกลางและเล็ก ยังอาจเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ดี คาดว่าปัญหาการปิดกิจการของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและเล็กของสหรัฐฯ ยังอาจเกิดขึ้นได้ต่อ โดยเฉพาะช่วงเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงในภาวะดอกเบี้ยสูง หากธนาคารนั้นๆมีการกระจุกตัวของผู้ฝากเงินและพอร์ตสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าบางประเภท จึงทำให้คาดว่าแม้ความผันผวนของตลาดจะปรับลง แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องนี้กดดันอยู่เป็นระยะๆได้

มุมมองการลงทุนโดยภาพรวม
คาดว่าตลาดสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป นอกจากจะต้องติดตาม พัฒนาการของรายละเอียดมาตรการช่วยเหลือ SVB และการประกาศปิดธนาคารอื่นๆตามมาเพิ่มเติมแล้ว นักลงทุนจะกลับมาโฟกัสที่พัฒนาการของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพื่อประเมินทิศทางของดอกเบี้ย Fed ต่อไป 

จับตาตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้ผลิต และ Retails Sales 
โดยตัวเลขสำคัญที่ต้องจับตาในช่วงก่อนประชุม Fed ในวันที่ 21-22 มีนาคม นี้ ได้แก่ ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ (ประกาศออกมาแล้ว 14 มี.ค. ชะลอตัวตามคาด) / ดัชนีราคาผู้ผลิต / Retails Sales ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงจากเดือนก่อน ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องมุมมองจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ย Fed ในรอบวัฎจักรนี้ลง 

โดยคาดว่าปัจจัยทั้งจากมาตรการช่วยเหลือ SVB และมุมมองจุดสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว น่าจะลดแรงกดดันต่อความผันผวนในตลาดสินทรัพย์ลงได้ในระยะถัดไป โดยจับตาการประชุม Fed ในสัปดาห์หน้า ที่จะส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป และมุมมองต่อคาดการณ์ economic projection (GDP, เงินเฟ้อ) หลังจากเหตุการณ์ SVB

มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
สำหรับตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงแรงวานนี้ (14 มี.ค.) กว่า 3% โดยกระจายไปในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม จากความกังวลวิกฤตภาคการเงินในสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะลุกลามและทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ ประกอบกับความกังวลเรื่องของสภาพคล่องโดยรวมจากอัตราดอกเบี้ยที่ทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในสหรัฐฯ 

ผลกระทบทางตรงกรณี SVB มีค่อนข้างจำกัดต่อตลาดไทย
ทั้งนี้ KAsset มองว่าผลกระทบทางตรงจากปัจจัยดังกล่าวมีค่อนข้างจำกัดสำหรับตลาดไทย เนื่องจากภาคธนาคารยังมีสถานะการเงินและเงินกองทุนค่อนข้างแข็งแกร่ง ประกอบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ได้แรงและเร็วเหมือนสหรัฐฯ โดย บลจ.กสิกรไทยมองว่าแรงขายที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากปัจจัยทางจิตวิทยาของนักลงทุนเป็นหลัก ประกอบกับผลประกอบการไตรมาส 4 ของบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาต่ำกว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ในระยะสั้นตลาดหุ้นขาดปัจจัยบวกที่สนับสนุน 

นอกจากนี้ valuation ของตลาดหุ้นไทยยังไม่ถูกมากเมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค อย่างไรก็ดี วันนี้ (15 มี.ค.) ตลาดหุ้นไทยได้มีการฟื้นตัวตามตลาดโลก โดยครึ่งเช้าดัชนีปรับขึ้นกว่า 2.5% 

อนึ่ง มองว่าในระยะ 1-3 เดือน ตลาดหุ้นน่าจะยังมีความผันผวนตามตลาดโลกจนกว่าทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะเริ่มชัดเจนขึ้น และเศรษฐกิจเริ่มมีการปรับสมดุลจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา 

คำแนะนำการลงทุน สำหรับตลาดหุ้นไทย
KAsset คงคำแนะนำ ให้ทยอยเข้าลงทุนได้ ทั้งนี้ ดัชนีระหว่าง 1500-1550 จุด จะมี Downside ค่อนข้างจำกัด โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดน่าจะกลับมาเป็นทิศทางขาขึ้นได้จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว​


หมายเหตุ ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน


บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค. 2566


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
ธนาคาร SVB ปิดกิจการ !! กระทบกองทุนหรือไม่? >>Click
เลข CPI ปรับตัวสูง กระทบพอร์ตหรือไม่? >>Click
สินทรัพย์เสี่ยงตอบรับ หลังประชุม Fed >>Click
ส่องเศรษฐกิจจีนหลังเปิดประเทศ >>Click​
No
3/16/2023