ได้โบนัสเป็นเงินก้อน แต่หาวิธีจัดสรรไม่ถูก ที่สำคัญคือ อย่าปล่อยฝากธนาคารไว้เฉยๆ โดยไม่มีการวางแผนที่ดี ...วันนี้ KAsset มีเทคนิค มาแนะนำแบบไปใช้ได้จริง เริ่มได้!
“เทคนิค 6 Jars แบ่งเงินก้อนใหญ่ ใส่โหล 6 ใบ …มีเงินเหลือใช้ตอนเกษียณ”
ปกติแล้วทฤษฎี 6 Jars จะถูกนำมาใช้กับการจัดสรรกับรายได้ประจำ แต่ครั้งนี้ ทีมงาน KAsset จะนำทฤษฎี 6 Jars มาประยุกต์ใช้กับเงินโบนัสก้อนโต เพื่อให้ดีต่อใจและสุขภาพการเงินในระยะยาว ได้เช่นเดียวกัน มีอะไรบ้างนะ ไปอ่านกันเลย
โดย 6 Jars เกิดจากแนวคิดของ T.Harv Eker เจ้าของหนังสือขายดี "ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน" ผู้ใช้เทคนิคจัดสรรเงินเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการพลิกชีวิตตัวเอง จากคนที่เคยถังแตก ให้กลายเป็นเศรษฐีได้ในช่วงเวลาไม่กี่ปี ทั้งนี้ T.Harv Eker จะจัดสรรเงินออกเป็น 6 ส่วน โดยแบ่งส่วนเงินต่างๆ คล้ายๆเวลาเราสะสมเงินในกระปุกออมสินนั่นเอง
ส่วนที่ 1 เงินสำหรับ ลงทุนระยะยาว 55%
เงินส่วนนี้ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ จึงแนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงไม่สูงมาก และแนะนำให้ต้องเน้นลงทุนที่ได้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย เช่น กองทุน SSF และ RMF ที่สำคัญคือเราสามารถนำไปขอคืนภาษีเงินได้ในตอนปลายปีได้อีกด้วย
ส่วนที่ 2 เงินสำหรับ ลงทุนระยะสั้น 10%
ถือว่าเป็นเงินส่วนของการสร้างความมั่งคั่ง จะต้องใส่ 10% ของเงินที่ได้รับลงไปในส่วนนี้ ยิ่งใส่เท่าไรความมั่งคั่งยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เงินส่วนนี้จึงควรนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ตลาดหุ้น และสินทรัพย์ทางเลือก เพื่อใช้เงินส่วนนี้ช่วยสร้าง Passive Income ได้ตลอดเวลา แม้ว่าคุณจะไม่ได้ทำงาน ยิ่งใส่เงินส่วนนี้มากเท่าไร อนาคตของคุณก็มีโอกาสเข้าใกล้ความ "รวย" ได้มากขึ้นเท่านั้น
ส่วนที่ 3 เงินสำหรับ เปย์ตัวเอง 10%
สำหรับเงิน 10% ที่แบ่งไว้ส่วนนี้ คือ การให้รางวัลตัวเอง เน้นสนอง need ตัวเองล้วนๆ เอาไว้ทำกิจกรรมตามไลฟ์สไตล์ของเรา หรือซื้อของที่อยากได้ ไม่ว่าจะเป็นการปาร์ตี้ ไปเที่ยว ช้อปปิ้ง หรือบัตรคอนเสิร์ต เพราะเราทุกคนต่างก็ต้องการพักผ่อน และให้รางวัลตัวเอง เงิน 10% ส่วนนี้จึงถือเป็นเงินสำหรับเยียวยาจิตใจ ไม่ให้เครียดไปกับการหาเงินนั่นเอง
ส่วนที่ 4 เงินสำหรับ พัฒนาตนเอง 10%
เราจะสร้างความมั่งคั่งได้ก็ต้อง ศึกษาข้อมูลและเรียนรู้อยู่เสมอ เราจึงต้องใส่เงินส่วนนี้ 10% ทุกครั้งที่มีรายได้ เพราะความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน เราต้องหมั่นเรียนรู้อยู่เสมอนั่นเอง
และที่สำคัญ การพฒนาตนเองเหล่านี้ ทำให้เราสามารถเติบโต จากการเพิ่มทักษะให้ตัวเอง เช่น เข้าเรียนคอร์สที่สนใจ เรียนภาษา เรียนทำอาหาร เรียนต่อต่างประเทศ ซึ่งในระยะยาวเงินส่วนนี้จะทำให้คุณเจอโอกาสต่างๆ มากขึ้น
ส่วนที่ 5 เงินสำหรับ บริจาคให้สาธารณะกุศล 5%
เมื่อจัดสรรเงินให้ตัวเองแล้ว เหลืออีก 5% ก็ต้องแบ่งไว้สำหรับผู้อื่นด้วย เพื่อเป็นเงินบริจาคให้ สาธารณะกุศลโดยเฉพาะ เช่น บริจาคในโอกาสต่างๆ หรือแม้แต่แบ่งไว้ซื้อของขวัญให้พ่อแม่ เพื่อน หรือคนรัก ในโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกดีๆ ให้กับตัวเองและผู้อื่นได้
ส่วนที่ 6 เงินสำรองฉุกเฉิน 10%
เป้าหมายในการเก็บเงินส่วนนี้คือ เพื่อการใช้จ่ายในอนาคต ในสิ่งที่เราอาจจะคาดไม่ถึง เช่น เงินสำรองฉุกเฉิน ค่ารักษาพยาบาล เงินประกันชีวิต ส่วนนี้ยังมีความสำคัญมากเมื่อถึงเวลาเกษียณ เป็นส่วนที่ช่วยให้เรากันเงินไว้ไปใช้จ่ายในภายหลังในวันที่ไม่แรงแล้วนั่นเอง