9/22/2023

Fed ไม่ขึ้นดอกเบี้ย ..แต่ยังไม่จบรอบ คาดขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปี​​

HIGHLIGHTS :​
• Fed คงดอกเบี้ยตามคาด
• Dot plot ล่าสุดบ่งชี้ Fed อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1 ครั้ง ในปีนี้ 
• แถลงการณ์ของ Fed มองกิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น
• ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯต่างปิดลบ จากความกังวลว่า Fed จะต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป
• การย่อตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯเป็นจังหวะสะสม คาดว่ากำไรยังเติบโตได้ 12% ในปี 2567
• ตราสารหนี้จะยังได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง แนะนำเลือกลงทุนตามระยะเวลาที่ถือครองได้

Fed คงดอกเบี้ยตามคาด
Fed มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ระดับ 5.25 – 5.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ส่งผลให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25% นับตั้งแต่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมี.ค. 2565 ขณะเดียวกัน จะยังคงแผนปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ไว้เช่นเดิม

Dot Plot ล่าสุดบ่งชี้ Fed อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1 ครั้ง ในปีนี้ 
คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเจ้าหน้าที่ Fed (Dot Plot) ล่าสุด มีการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง สู่ระดับ 5.6% ภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งสู่ระดับ 5.1% ในช่วงสิ้นปี 2567 ก่อนที่จะลดลงสู่ระดับ 3.9% และ 2.9% ในช่วงสิ้นปี 2558 และ 2569 ตามลำดับ พร้อมทั้งคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่ระดับ 2.5%

แถลงการณ์ของ Fed มองกิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น
ถ้อยแถลงหลังการประชุม Fed ได้ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น (expanding at a solid pace จากเดิมใช้คำว่า “moderate”) ขณะที่มองการจ้างงานยังคงมีความแข็งแกร่งแม้จะชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมา (“have slowed in recent months but remain strong” จากเดิมใช้คำว่า “robust”) และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงปรับตัวขึ้น

โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่ Fed มีคาดการณ์ ดังนี้ 
- ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP สู่ระดับ 2.1% ในปีนี้ (จากเดิมคาดการณ์ที่ 1.0%) และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 1.5% ในปี 2567 และเท่ากันที่ 1.8% ในปี 2568 และ 2569 ขณะที่อัตราการขยายตัวในระยะยาวอยู่ที่ระดับ 1.8%
- ปรับลดคาดการณ์อัตราว่างงานสู่ระดับ 3.8% ในปีนี้ และอยู่ที่ 4.1% ทั้งในปี 2567 และ 2568 ส่วนในปี 2569 อยู่ที่ระดับ 4.0% ขณะที่อัตราว่างงานระยะยาวอยู่ที่ 4.0%
- คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 3.7% ในปีนี้ และอยู่ที่ 2.6% ในปี 2567 และ 2.3% ในปี 2568 ส่วนในปี 2569 อยู่ที่ระดับ 2.0%

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯต่างปิดลบ จากความกังวลว่า Fed จะต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป
แม้ Fed จะคงดอกเบี้ยตามคาด แต่ตลาดกังวลต่อการที่ Fed ยังคงส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ
โดยดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงนำ -1.53% ดัชนี S&P 500  -0.94% และ ดัชนี Dow Jones -0.22% (20 ก.ย. 2566)

มุมมองการลงทุน
การคงอัตราดอกเบี้ยของ Fed เป็นไปตามที่เราและตลาดคาด โดยล่าสุดตลาดให้น้ำหนัก 72% ว่า Fed จะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในเดือนพ.ย. หลังตัวเลขการจ้างงานแผ่วลง และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่ยังสูงกว่าเป้าที่ 2% ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ที่ยังออกมาค่อนข้างดี อาทิ ยอดค้าปลีก นับเป็นความเสี่ยงทำที่ทำให้ Fed มีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง โดยการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงในปัจจุบันเป็นระยะเวลานาน หรืออาจตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพิ่มเติมได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอย่างเงินเฟ้อและตัวเลขการจ้างงานในระยะข้างหน้า

คำแนะนำการลงทุน
ยังคงมุมมอง Slightly Positive ต่อการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ 
​การปรับลงของตลาดหุ้นในช่วงที่นโยบายการเงินของ Fed ยังคงตึงตัวภายใต้เศรษฐกิจที่เติบโตดีกว่าคาด รวมถึงโอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอยลดลงนั้น เป็นจังหวะสะสมหุ้นสหรัฐฯที่คาดว่ากำไรยังเติบโตได้ 12% ในปี 2567
​​
ยังคงมุมมอง Slightly Positive ต่อการลงทุนในตราสารหนี้  
เงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอลงได้แต่เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่โอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอยลดลงนั้น เน้นย้าถึงธีม “Higher for Longer” ทั้งนี้ แม้ว่า Fed จำเป็นต้องคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง แต่การปรับขึ้นของ Bond Yield น่าจะจำกัดมากขึ้น โดยในช่วงที่ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูง นักลงทุนจะได้ประโยชน์จากการถือกองทุนที่ตราสารจ่ายดอกเบี้ยสูง ระยะถัดไป หาก Fed ส่งสัญญาณหยุดการขึ้นดอกเบี้ย จะเป็นแรงหนุนที่ชัดเจนต่อตลาดตราสารหนี้ได้ และเมื่อดอกเบี้ยกลับไปเป็นขาลง นักลงทุนก็จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีจากราคาตราสารหนี้ที่ปรับขึ้น (ราคาตราสารหนี้จะสัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ยในทิศทางตรงกันข้าม) นอกจากนี้ ตราสารหนี้จะช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ต ในภาวะที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง อย่างไรก็ดี ระยะสั้นนี้อาจจะยังเห็นความผันผวนระหว่างทางได้

แนะนำให้เลือกลงทุน ตามระยะเวลาที่ถือครองได้ ดังนี้ 
กลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น :  
แนะนำ K-SF (ลงทุนอย่างน้อย 1-3 เดือน) และ K-SFPLUS (ลงทุนอย่างน้อย 3-6 เดือน) 

กลุ่มตราสารหนี้ระยะกลาง :  
แนะนำ K-PLAN1 (ลงทุนอย่างน้อย 9-12 เดือน)

กลุ่มตราสารหนี้ระยะยาว :  
แนะนำ ​K-FIXEDPLUS (ลงทุนอย่างน้อย 1 ปี)

ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน โดยศึกษานโยบายกองทุนและความเสี่ยงได้ที่ www.kasikornasset.com

K-PLAN ,K-PLAN2 , K-PLAN3, K-SF,K-SF-A,K-SF-SSF, K-GINCOME, K-GINCOME-A(A), K-GINCOME-A(R), K-GINCOME-SSF, K-GINCOME-RMF, กองทุนแนะนำ, กองทุนผลตอบแทนดี, กองทุนรวม, กองทุนรวม ตัวไหนดี , กองทุน กสิกร​​

บทความโดย ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย  
ข้อมูล ณ วันที่ 22 กันยายน 2023

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง 
อัปเดตวิกฤตอสังหาริมทรัพย์จีน …เกิดอะไรขึ้น?​ >>Click
เมื่อ Fed ขึ้นดอกเบี้ย ...แต่ไม่ชัดว่าเป็นครั้งสุดท้าย​ >>Click
สรุปสัญญาณ จากประชุม Politburo ของจีน​​ >>Click​
GDP จีนไตรมาสแรกขยายตัว 4.5% สูงกว่าคาด >>Click​​


Yes
9/22/2023
0