3/20/2025

มองหุ้นไทยในมุมใหม่ : จ่ายปันผลสูงและการซื้อหุ้นคืนช่วยเสริมความเชื่อมั่น (ตอนที่ 1)​

​Highlights :
• ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงมาระดับต่ำในรอบหลายปี และลงมามากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน สะท้อนถึงวิกฤตความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนไทย
• บทวิจัย KCMA คาดการณ์ว่าการเติบโตของรายได้บริษัทจดทะเบียนไทยในอนาคตมีการชะลอลง ไปเป็นทิศทางเดียวกับ GDP ที่ชะลอลง โดยเห็นการปรับคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นไทยลดลงมาต่อเนื่องประมาณ 12-13% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
• อย่างไรก็ดี Valuation หุ้นไทยตอนนี้อยู่ระดับเดียวกันกับช่วง Covid-19 แล้ว ทั้งระดับ Forward P/BV ที่ 1.1 เท่า ต่ำสุดในรอบ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2553 หรือระดับ Forward P/E ที่ 11.8 เท่า 
• นอกจากนี้ หุ้นหลายตัวมีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่สูงขึ้น โดยปัจจุบัน อัตราคาดการณ์เงินปันผล (Dividend Yield) ของ SET อยู่ที่ 4.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ผ่านมาที่ 3.2%
• อนึ่ง การซื้อหุ้นคืนก็ยังมีบทบาท ลดความผันผวน และสร้างพื้นฐานราคาหุ้นที่แข็งแกร่งขึ้นในช่วงวิกฤต (เช่น ช่วยดึงราคาหุ้นกลับหลังร่วงหนักในปี 2563 ในหลายประเทศ) และช่วยให้รอบฟื้นตัวของตลาดมีแรงส่งที่ดีขึ้นเมื่อปัจจัยอื่นเอื้ออำนวย

สรุปมุมมองการลงทุน จาก KAsset  
• มองว่า หุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม มีโอกาสให้ปันผลที่สูงต่อเนื่อง รวมถึงหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าต่ำมูลค่าทางบัญชี และไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติม 
• รวมไปถึงหุ้นที่มีความสามารถในการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารตัวเลขทางการเงินให้ดีขึ้นนั้น นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาลงทุน แต่ต้องศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ
​​

ตอนที่ 1 : หุ้นปันผลสูง กับโอกาสในการลงทุน

การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ เมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆในภูมิภาคเดียวกัน
ตั้งแต่ต้นปี ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงกว่า 16% (ณ 20 มี.ค. 2568) ทำให้ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดหุ้นที่มีผลงานแย่ที่สุดจาก 92 ดัชนีทั่วโลก ตามรายงานของ Bloomberg  

เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปลายปี 2567 ถึง 20 มีนาคม 2568 ดัชนี SET ของไทยลดลงกว่า -16% ซึ่งแย่กว่าตลาดหุ้นประเทศเพื่อนบ้านที่ปรับลดลงประมาณ -8% ถึง -10% โดยตลาดหุ้นอินโดนีเชีย -8.4% ตลาดหุ้นมาเลเชีย -10% และ ฟิลิปปินส์ -3.2% 

นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย.. เช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาค
โดยในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 50% ของมูลค่าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยนั้น ได้ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 3100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ 19 มี.ค. 2568) อย่างไรก็ดี แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติในหุ้นไทย เป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศเอเชียอื่นๆ เช่น ตลาดหุ้นอินโดนีเชียเผชิญแรงขาย 2450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นเวียดนามเผชิญแรงขาย 3238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลาดหุ้นมาเลเชียแรงขาย 2597 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“การที่ตลาดหุ้นไทยปรับลงมากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ สะท้อนถึงวิกฤตความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนไทย”

แนวโน้มการเติบโตของ GDP และผลกระทบต่อการคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นไทย​
การที่ GDP ช่วงหลัง Covid-19 (2564-2567) มีการเติบโตชะลอที่เฉลี่ย 2.2% ต่อปี เทียบกับการเติบโตเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ในช่วง 2553-2562 ก่อน Covid-19 ส่งผลกดดันต่อผลตอบแทนของดัชนีหุ้นไทยเช่นกัน จากการทำวิจัยของ บลจ.กสิกรไทย ร่วมกับ J.P. Morgan Asset Management ภายใต้บทวิจัย KAsset Capital Market Assumptions (KCMA) นั้น คาดว่าในช่วง 10-15 ปีข้างหน้า GDP ไทยน่าจะเติบโตเฉลี่ย 2.4% ต่อปี โดยกดดันจากปัจจัยโครงสร้าง เช่น ประชากรแรงงานลดลง ขณะที่ประชากรสูงวัยสูงขึ้นและเข้าสู่สังคมสูงวัยในปี 2566 ที่ผ่านมา รวมถึงรายจ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐ และเอกชนที่ชะงักงัน 

การที่แนวโน้มการเติบโต GDP ในระยะถัดไปที่ชะลอลงกว่าช่วงก่อน Covid-19 นั้น ส่งผลโดยตรงต่อคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทยเช่นกัน โดยจากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเติบโตของรายได้ของบริษัทจดทะเบียนไทย (Revenue Growth) กับการเติบโตของ GDP (GDP Growth) ในอดีตช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2547-2567) พบว่าอัตราการเติบโตของรายได้บริษัทจดทะเบียนไทยสูงกว่าการเติบโตของ GDP โดยเฉลี่ยประมาณ 1.7 เท่า 

และบทวิจัย KCMA คาดการณ์ว่าความสามารถของบริษัทจดทะเบียนไทยจะเติบโตรายได้ลดลงเป็น 1.3 เท่าของ GDP โดยหลักๆ มาจากความสามารถในการปรับราคาที่จำกัดขึ้น จากการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งจากการไหลเข้ามาของสินค้าจากจีน รวมถึงการที่สัดส่วนอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมี Market Cap. ส่วนใหญ่ประมาณ 80% ยังอยู่ในเศรษฐกิจแบบเก่า (Old Economy) ซึ่งเผชิญกับภาวะอิ่มตัวของอุปสงค์ จึงทำให้การเติบโตของรายได้ที่เราคาดการณ์ในอนาคตมีการชะลอลง ไปเป็นทิศทางเดียวกับ GDP ที่ชะลอลง โดยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การปรับคาดการณ์กำไรของตลาดหุ้นไทยลดลงมาต่อเนื่องประมาณ 12-13% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

โอกาสการลงทุนในหุ้นไทย ​จากปันผลและการซื้อหุ้นคืน
แม้การปรับตัวลดลงของดัชนี SET Index อย่างต่อเนื่องช่วงที่ผ่านมา อาจทำให้นักลงทุนหมดหวังกับการลงทุนในหุ้นไทย อย่างไรก็ดี ณ ระดับดัชนีที่ใกล้เคียง 1200 จุด ณ ปัจจุบัน ได้สะท้อน Valuation ที่การซื้อขายที่ต่ำระดับเดียวกันกับช่วง Covid-19 แล้วเช่นกัน ทั้งระดับ Forward P/BV ที่ 1.1 เท่า ต่ำสุดในรอบ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2553 หรือระดับ Forward P/E ที่ 11.8 เท่า 
แม้ราคาหุ้นจะตกต่ำลงมาที่ Valuation เดียวกับช่วงวิกฤต Covid-19 แต่ในเชิง ROE ถือว่าตลาดหุ้นไทยไม่ได้ตกต่ำเท่าช่วงดังกล่าว โดยระดับ ROE คาดการณ์ปัจจุบันอยู่ที่ 8-9% สูงกว่าจุดต่ำสุดช่วง Covid-19 ที่ ROE 5.5% 

นอกจากนี้ การที่ตลาดหุ้นไทยปรับลงมาต่อเนื่องรอบนี้ ส่งผลให้หุ้นหลายตัวมีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่สูงขึ้น โดยปัจจุบัน อัตราคาดการณ์เงินปันผล (Dividend Yield) ของ SET อยู่ที่ 4.2% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีที่ผ่านมาที่ 3.2% ยิ่งกว่านั้น SET High Dividend ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนหุ้นกลุ่มที่มีอัตราจ่ายปันผลสูงต่อเนื่อง ปัจจุบันมีอัตราปันผลเฉลี่ยสูงถึง 6.05% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 15 ปีย้อนหลังที่ 4.2%

โดย KCMA คาดว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทยในอนาคตนั้น จะมาจากอัตราปันผลที่สูงขึ้นเป็นหลัก โดยสนับสนุนจากการที่ 3 อุตสาหกรรมใหญ่สุดของ SET ได้แก่ พลังงาน ธนาคาร และสื่อสาร คิดเป็น 44% ของ market cap นั้น ส่วนใหญ่อยู่ใน mature stage ที่ความต้องการใช้เงินลงทุนเพื่อขยายกิจการชะลอลงจากช่วง 15 ปีก่อน ทำให้มีความสามารถจ่ายปันผลได้สูงขึ้น ตัวอย่างเช่นหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่มีอัตราคาดการณ์เงินปันผลปัจจุบันอยู่ที่ 5.3% เทียบกับค่าเฉลี่ยอดีต 15 ปีที่ผ่านมา เพียง 3.5% เท่านั้น

นอกจาการจ่ายปันผลสูงจะเป็นโอกาสการลงทุนสำหรับตลาดหุ้นไทยแล้ว การซื้อหุ้นคืน (share repurchase) เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นต่อตัวบริษัท โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาหุ้นต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มกำไรต่อหุ้น (EPS) และอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) แล้ว ยังมีผลเชิงบวกต่อราคาหุ้นในตลาดด้วย กรณีของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน โดยในปี 2566 บริษัทจดทะเบียนซื้อหุ้นคืนรวมกว่า 9.6 ล้านล้านเยน และมีการยกเลิกหุ้นซื้อคืนในวงกว้าง ส่งผลให้ดัชนี Nikkei 225 ปรับขึ้นกว่า 28% ในปีเดียว 

ขณะที่เกาหลีใต้ก็กำลังเร่งส่งเสริมให้บริษัทใช้ buyback เป็นกลยุทธ์เพิ่มมูลค่ากิจการ ภายใต้โครงการ “Corporate Value-up” ส่วนในประเทศไทย แม้การซื้อหุ้นคืนจะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในปี 2567 แต่ยังมีสัดส่วนไม่สูงเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดพบว่าในเดือนที่มีมูลค่าการซื้อหุ้นคืนสูง ราคาหุ้นในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมักปรับตัวดีขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยตลาด สะท้อนถึงศักยภาพของเครื่องมือนี้ในการเสริมราคาหุ้นและฟื้นความเชื่อมั่นหากใช้ในจังหวะและแนวทางที่เหมาะสม

“สรุปได้ว่า แม้ตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปี ประกอบกับเผชิญการขายสุทธิต่อเนื่องของนักลงทุนต่างชาติ จากความไม่เชื่อมั่นต่อแนวโน้มการเติบโตในอนาคต แต่สำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสลงทุน เรายังมองว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม มีโอกาสให้ปันผลที่สูงต่อเนื่อง รวมถึงการซื้อหุ้นคืนเพื่อบริหารตัวเลขทางการเงินให้ดีขึ้นนั้น นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการพิจารณาลงทุน” 

อย่างไรก็ตาม ควรศึกษาข้อมูลและวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน ​


ที่มา: KAsset Investment Strategy บลจ.กสิกรไทย 

ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2025​


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
มองหุ้นไทยในมุมใหม่ ตอนที่ 2 >>อ่านต่อ​​​
ครม.ไฟเขียวตั้งกองทุน TESGX >>อ่านต่อ
วางแผนอย่างไร? เมื่อ LTF ครบอายุ >>อ่านต่อ​​

คำเตือน ข้อมูลนี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทั่วไป ผู้ใช้จึงต้องระมัดระวังด้วยวิจารณญาณและรับผิดชอบในความเสี่ยงด้วยตนเอง / ผู้ลงทุนโปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน​

Yes
3/20/2025
0
situation